No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 649 (เล่ม 67)

ปัคคหะ. จริงอยู่ ในขณะนั้น ความเพียรที่ประคองไว้ดีแล้วไม่ย่อหย่อน
อันตนปรารภยิ่งแล้วย่อมเกิดขึ้น. สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนา ชื่อว่า
อุปัฏฐาน. จริงอยู่ ในสมัยนั้น สติที่ตั้งมั่นดีแล้วย่อมเกิดขึ้น. อุเบกขามี
๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาและอาวัชชนะ (การพิจารณา). จริงอยู่
ในขณะนั้นญาณกล่าวคือวิปัสสนูเปกขา อันมีความเป็นกลางในการยึดถือ
สังขารทั้งปวง เป็นสภาพมีกำลังย่อมเกิดขึ้น. แม้อุเบกขาในมโนทวารา-
วัชชนะก็ย่อมเกิดขึ้น. อนึ่ง อุเบกขานั้นกล้าเฉียบแหลมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้
พิจารณาถึงฐานะนั้น ๆ. ความใคร่ในวิปัสสนา ชื่อว่า นิกนฺติ.
จริงอยู่ ในวิปัสสนูปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น ความใคร่มีอาการสงบ
สุขุม กระทำความอาลัยย่อมเกิดขึ้น. โอภาสเป็นต้นในวิปัสสนูปกิเลสนี้
ท่านกล่าวว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นวัตถุแห่งกิเลสมิใช่เพราะเป็นอกุศล.
แต่นิกันติความใคร่ เป็นทั้งอุปกิเลส เป็นทั้งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส. ก็ภิกษุ
ผู้เป็นบัณฑิต เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้นไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ย่อมกำหนด
มรรคและมิใช่มรรคว่า ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น มิใช่มรรค แต่
วิปัสสนาญาณอันไปตามวิถี พ้นจากอุปกิเลสเป็นมรรค. ญาณกำหนดรู้ว่า
นี้เป็นมรรค นี้มิใช่มรรคของผู้ปฏิบัตินั้น ท่านเรียกว่า มัคคามัคคญาณ-
ทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง).
ตั้งแต่นี้ไปวิปัสสนาญาณอันมีสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณที่คล้อยตามสัจจะ)
ที่ ๙ ถึงความเป็นยอดของวิปัสสนาญาณ ๘ นี้ชื่อว่า ปฏิปทาญาณทัสสน-
วิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ).
ชื่อว่าญาณ ๘ เหล่านี้ คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึง
เห็นทั้งความเกิดและความดับ ๑ ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็น

649
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 650 (เล่ม 67)

ความดับ ๑ ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณคำนึงเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ๑
อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ ๑ นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่าย ๑ มุญจิตุกามยตาญาณ ญาณคำนึง
ด้วยความใคร่จะพ้นไปเสีย ๑ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงด้วย
พิจารณาหาทาง ๑ สังขารุเปกขาญาณ ญาณคำนึงด้วยความวางเฉยใน
สังขาร ๑ คำว่า สัจจานุโลมิกญาณที่ ๙ นี้เป็นชื่อของ อนุโลมญาณ
เพราะฉะนั้น ผู้ประสงค์จะให้วิปัสสนาญาณนั้นสมบูรณ์ ควรทำความเพียร
ในญาณเหล่านั้น ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ อันพ้นจากอุปกิเลสแล้วเป็นต้นไป.
เพราะเมื่อเห็นความเกิดความดับ อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็น
จริง. เมื่อเห็นความบีบคั้นของความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ทุกข-
ลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง และเมื่อเห็นอยู่ว่า ทุกข์เท่านั้น
ย่อมเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป อนัตตลักษณะย่อม
ปรากฏตามความเป็นจริง.
อนึ่ง ในข้อนี้พึงทราบการจำแนกนี้ว่า นิจฺจํ อนิจฺจลกฺขณํ ทุกขํ
ทุกฺขลกฺขณํ อนตฺตา อนตฺตลกฺขณํ.
ในวิภาคทั้ง ๖ เหล่านั้น บทว่า อนิจฺจํ คือขันธ์ ๕. เพราะเหตุไร
เพราะขันธ์ ๕ นั้นมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไป และมีความเป็นอย่างอื่น
หรือเพราะมีแล้วไม่มี. ชราชื่อว่าความเป็นอย่างอื่น. ความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไป และความเป็นอย่างอื่น ชื่อว่า อนิจจลักษณะ. หรือความ
วิการแห่งอาการ กล่าวคือความมีแล้วไม่มี ชื่อว่า อนิจจลักษณะ.
ขันธ์ ๕ นั้นแลเป็นทุกข์ เพราะพระพุทธดำรัสว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ " เพราะเหตุไร. เพราะบีบคั้นอยู่เนือง ๆ. อาการบีบคั้น

650
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 651 (เล่ม 67)

เนือง ๆ ชื่อว่า ทุกขลักษณะ. ขันธ์ ๕ นั่นแลเป็นอนัตตา เพราะพระ-
พุทธดำรัสว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา. เพราะเหตุไร. เพราะ
ไม่เป็นไปในอำนาจ. อาการไม่เป็นไปในอำนาจ ชื่อว่า อนัตตลักษณะ.
แม้ลักษณะ ๓ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นอารมณ์ของผู้เห็นความเกิด
และความเสื่อมนั่นเอง. ผู้นั้นย่อมเห็นรูปธรรมและอรูปธรรมแม้อีก โดย
นัยมีอาทิว่า " อย่างนี้ ไม่เที่ยง." สังขารทั้งหลายของผู้นั้นย่อมมาสู่คลอง
เร็วพลัน. แต่นั้นเมื่อมีความสิ้นความเสื่อมและความดับของสังขารเหล่านั้น
พระโยคาวจรไม่กระทำความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความเป็นไปหรือนิมิต
ให้เป็นอารมณ์ดำรงอยู่. นี้ชื่อว่า ภังคญาณ.
จำเดิมแต่ภังคญาณนี้เกิด พระโยคาวจรนี้เห็นความดับเท่านั้นว่า
สังขารทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมแตกดับไป ฉันใด แม้ในอดีต สังขารก็แตก
แล้ว แม้ในอนาคต ก็จักแตก ฉันนั้น. เมื่อพระโยคาวจรนั้นเสพภังคานุ-
ปัสสนาญาณบ่อย ๆ กระทำให้มาก สังขารทั้งหลายอันแตกต่างกันใน
ภพ กำเนิด คติ ฐิติ และสัตตาวาส ย่อมปรากฏ เป็นภัยใหญ่หลวง ดุจ
หลุมถ่านเพลิงอันลุกโพลงฉะนั้น นี้ชื่อว่า ภยตูปัฏฐานญาณ.
เมื่อพระโยคาวจรนั้นเสพภยตูปัฏฐานญาณนั้น ภพเป็นต้นทั้งหมด
ไม่เป็นที่พึ่งได้ มีโทษ ย่อมปรากฏดุจเรือนถูกไฟไหม้ ดุจข้าศึกเงื้อดาบ
ฉะนั้น. นี้ชื่อว่า อาทีนวานุปัสสนาญาณ.
เมื่อพระโยคาวจรนั้นเห็นสังขารโดยความมีโทษอย่างนี้ ความ
เบื่อหน่าย ความไม่ยินดีย่อมเกิดขึ้นในสังขารทั้งปวง เพราะสังขารทั้งหลาย
ในภพเป็นต้นมีโทษ นี้ชื่อว่า นิพพิทานุปัสสนาญาณ.

651
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 652 (เล่ม 67)

เมื่อเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ความเป็นผู้ใคร่จะพ้นออกไปจาก
สังขารนั้นย่อมมีขึ้น. นี้ชื่อว่า มุญจิตุกามยตาญาณ.
การยกสังขารเหล่านั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ แล้วพิจารณาด้วยปฏิ-
สังขานุปัสสนาญาณ เพื่อจะพ้นจากสังขารนั้น ชื่อว่า ปฏิสังขานุปัสสนา-
ญาณ.
พระโยคาวจรนั้น ยกสังขารทั้งหลายขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อย่างนี้
แล้วกำหนดอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่าเป็นตนหรือเนื่องด้วยตน
เพราะเห็นชัดซึ่งความเป็นอนัตตลักษณะในสังขารเหล่านั้น ละความกลัว
และความเพลิดเพลินในสังขารทั้งหลาย เป็นผู้วางเฉยเป็นกลางในสังขาร
ทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่า เรา หรือ ของเรา เป็นผู้วางเฉยในภพทั้ง ๓. นี้
ชื่อว่า สังขารุเปกขาญาณ.
ก็สังขารุเปกขาญาณนั้น หากว่าพระโยคาวจรเห็นนิพพานเป็นทาง
สงบโดยความสงบ สละความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวงแล้วแล่นไป น้อม
ไปในนิพพาน หากไม่เห็นนิพพานโดยความเป็นธรรมชาติสงบ เป็นญาณ
มีสังขารเป็นอารมณ์เท่านั้น ย่อมเป็นไปบ่อย ๆ ด้วยอำนาจแห่งอนุปัสสนา
๓ อย่าง คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา หรืออนัตตานุปัสสนา.
อนึ่ง สังขารุเปกขาญาณนั้น เมื่อตั้งอยู่อย่างนี้ก็ถึงความเป็นไปแห่งวิโมกข์
๓ อย่างตั้งอยู่.
อนุปัสสนา ๓ อย่าง ท่านเรียกว่า วิโมกขมุข คือ ทางแห่ง
วิโมกข์ ๓.
ในวิโมกข์ ๓ อย่างนี้ พระโยคาวจรมนสิการโดยความเป็นของ

652
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 653 (เล่ม 67)

ไม่เที่ยง เป็นผู้มากไปด้วยความน้อมใจเชื่อ ย่อมได้เฉพาะ อนิมิตต-
วิโมกข์.
เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ เป็นผู้มากไปด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้
เฉพาะ อัปปณิหิตวิโมกข์.
เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา เป็นผู้มากไปด้วยความรัก ย่อม
ได้เฉพาะ สุญญตวิโมกข์.
พึงทราบความในวิโมกข์นี้ต่อไป อริยมรรคทำนิพพานให้เป็น
อารมณ์ เป็นไปแล้วโดยอาการหานิมิตมิได้ ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์.
จริงอยู่ อริยมรรคนั้นชื่อว่าหานิมิตไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นด้วยธาตุอันไม่มี
นิมิต และชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย.
โดยนัยนี้เหมือนกัน อริยมรรคนั้นทำนิพพานให้เป็นอารมณ์เป็นไป
แล้วโดยอาการหาที่ตั้งมิได้ ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์.
พึงทราบว่า อริยมรรคทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เป็นไปแล้ว
โดยอาการเป็นของสูญ ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์.
วิปัสสนาของกุลบุตรผู้บรรลุสังขารุเปกขาญาณ ย่อมถึงความสุดยอด.
วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ การวางเฉยในสังขารอย่างแรงกล้า ย่อมเกิด
ขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้เสพสังขารเปกขาญาณนั้น. มรรคจักเกิดขึ้นแก่
พระโยคาวจรนั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรวางเฉยในสังขาร พิจารณา
สังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยงก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี เป็นอนัตตาก็ดี ย่อมหยั่งลงสู่
ภวังค์ มโนทวาราวัชชนะย่อมเกิดขึ้นในลำดับต่อจากภวังค์ เพราะมนสิการ
โดยอาการไม่เที่ยงเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในสังขารุเปกขาญาณ.
เมื่อพระโยคาวจรมนสิการอยู่อย่างนั้น ปฐมชวนจิตย่อมเกิดขึ้น ปฐม-

653
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 654 (เล่ม 67)

ชวนจิตนั้นเรียกว่า บริกรรม. ต่อจากบริกรรมนั้น ทุติยชวนจิตย่อม
เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้น ทุติยชวนจิตนั้นเรียกว่า อุปจาร. แม้ต่อจาก
อุปจารนั้น ตติยชวนจิตย่อมเกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้น ตติยชวนจิตนั้น
เรียกว่า อนุโลม. นี้เป็นชื่อเรียกแยกกันของจิตเหล่านั้น แต่โดยไม่ต่างกัน
ชวนจิต ๓ ดวงนี้ท่านเรียก อาเสวนะบ้าง บริกรรมบ้าง อุปจารบ้าง
อนุโลมบ้าง ก็อนุโลมญาณนี้เป็นญาณสุดท้ายของวิปัสสนา อันเป็น
วุฏฐานคามินี มีสังขารเป็นอารมณ์. แต่โดยตรงโคตรภูญาณเท่านั้น ท่าน
เรียกว่าเป็นที่สุดของวิปัสสนา. ต่อจากนั้น โคตรภูญาณเมื่อกระทำนิโรธ
คือนิพพานให้เป็นอารมณ์ ก้าวล่วงโคตรปุถุชน หยั่งลงสู่อริยโคตร เป็น
ธรรมชาติน้อมไปในนิพพานอารมณ์เป็นครั้งแรก อันไม่เป็นไปในภพอีก
ย่อมบังเกิดขึ้น. แต่ญาณนี้ไม่จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และญาณ-
ทัสสนวิสุทธิเป็นอัพโภหาริกในระหว่างญาณทั้งสองเท่านั้น. เพราะญาณนี้
ตกไปในกระแสแห่งวิปัสสนา จึงถึงการนับว่าเป็นปฏิปทาญาณทัสสน-
วิสุทธิหรือวิปัสสนา. เมื่อโคตรภูญาณกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ดับไป
แล้ว โสดาปัตตผลซึ่งทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยสัญญาที่โคตรภูญาณ
นั้นให้แล้ว กำจัดสังโยชน์คือทิฏฐิสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์
วิจิกิจฉาสังโยชน์ย่อมเกิดขึ้น. ในลำดับต่อจากนั้น ผลจิตสองหรือสาม
ขณะอันเป็นผลแห่งโสดาปัตติมรรคนั้นนั่นแหละย่อมเกิดขึ้น เพราะผลจิต
เป็นวิบากในลำดับต่อจากโลกุตรกุศล. ในที่สุดแห่งผลจิต มโนทวารา-
วัชชนจิตของพระโยคีนั้น เพราะตัดภวังค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
พิจารณา.
พระโยคีนั้นย่อมพิจารณามรรคว่า เรามาแล้วด้วยมรรคนี้หนอ

654
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 655 (เล่ม 67)

แต่นั้นพิจารณาผลว่า เราได้อานิสงส์นี้แล้ว. แต่นั้นพิจารณากิเลสที่ละ
ได้แล้วว่า กิเลสเหล่านั้นเราละได้แล้ว. แต่นั้นพิจารณากิเลสที่จะพึงฆ่าด้วย
มรรคเบื้องบน ๓ ว่า กิเลสเหล่านี้ยังเหลืออยู่. ในที่สุดพิจารณาอมต-
นิพพานว่า ธรรมนี้อันเราแทงตลอดแล้ว. การพิจารณา ๕ อย่างย่อม
มีแก่พระโสดาบันนั้นด้วยประการฉะนี้. ในที่สุดแห่งสกทาคามิผลและ
อนาคามิผลก็เหมือนกัน. แต่ในที่สุดแห่งอรหัตผลไม่มีการพิจารณากิเลส
ที่เหลือ. การพิจารณาทั้งหมดมี ๑๙ อย่าง ดังนี้.
พระโยคาวจรนั้น ครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็นั่งบนอาสนะนั้น
นั่นเอง เห็นแจ้งโดยนัยที่กล่าวแล้ว กระทำกามราคะและพยาบาทให้เบา
บาง ย่อมบรรลุ ทุติยมรรค. ในลำดับต่อจากทุติยมรรคนั้นก็บรรลุผล
โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
แต่นั้น พระโยคาวจรทำการละกามราคะและพยาบาทไม่ให้มีส่วน
เหลือโดยนัยที่กล่าวแล้ว ย่อมบรรลุ ตติยมรรค และบรรลุตติยผลตาม
นัยดังกล่าวแล้ว.
แต่นั้น ณ อาสนะนั้นเอง พระโยคาวจรเห็นแจ้งโดยนัยที่กล่าวแล้ว
ทำการละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ไม่ให้มี
ส่วนเหลือ ย่อมบรรลุ จตุตถมรรค และบรรลุจตุตถผลโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
โดยเหตุเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้นก็เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้อรหันต
มหาขีณาสพ. ญาณในมรรค ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ ด้วย
ประการฉะนี้.
ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ด้วยสองบาทคาถานี้ว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ
นิธาย ทณฺฑํ อเหฐยํ อญฺญตฺรมฺปิ เตสํ บุคคลวางแล้วซึ่งอาชญาใน

655
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 656 (เล่ม 67)

สัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นอันพระ-
ปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวถึง ศีลวิสุทธิ เพราะกล่าวถึงศีลมีปาติโมกขสังวร
เป็นต้น. ด้วยบาทคาถานี้ว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย กุโต สหายํ ไม่พึงปรารถนา
บุตร จักปรารถนาสหายแต่ไหน เป็นอันท่านกล่าวถึง จิตตวิสุทธิ เพราะ
กล่าวถึงเมตตาเป็นต้น ด้วยการเว้นจากความกระทบกระทั่งและความยินดี.
ด้วยบทนี้ว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือน
นอแรดฉะนั้น เป็นอันท่านกล่าวถึง ทิฏฐิวิสุทธิ เพราะกล่าวถึงการ
กำหนดนามรูปเป็นต้น. วิสุทธิ ๓ ข้างต้นที่กล่าวแล้ว วิสุทธิ ๔ ประการ
คือ กังขาวิตรณวิสุทธิ ๑ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ ปฏิปทา-
ญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ ญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ เป็นอันท่านกล่าวไว้แล้ว
(ครบ ๗ ประการ) นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเพียงหัวข้อในวิสุทธิ ๗ นี้. แต่
ผู้ปรารถนาความพิสดาร พึงดูวิสุทธิมรรคแล้วถือเอาเถิด.
ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นี้
มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้ง ๔ ไม่มีความขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตรายทั้งหลาย
ไม่หวาดสะดุ้ง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงถึงความเป็นที่รักของสกุล
ทั้งหลายเป็นต้น เข้าไปสำราญอยู่ยังภูเขาคันธมาทน์ ในบททั้งปวงก็มี
ความอย่างนี้.
จบอรรถกถานิทเทสแห่งคาถาที่ ๑
ในอรรถกถาขัคควิสาณสุตตนิทเทส

656
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 657 (เล่ม 67)

คาถาที่ ๒
๒) สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา
เสฺนหนฺวยํ ทุกฺขมิทํ ปโหติ
อาทีนวํ เสฺนหชํ เปกฺขมาโน
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้
ย่อมเกิดตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่
ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
บทว่า สํสคฺคชาตสฺส คือ บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง. ในบทว่า
สํสคฺคชาตสฺส นั้น พึงทราบว่าความเกี่ยวข้องมีอยู่ ๕ อย่าง คือ ทัสสน-
สังสัคคะ ๑ สวนสังสัคคะ ๑ กายสังสัคคะ ๑ สมุลลปนสังสัคคะ ๑
สัมโภคสังสัคคะ ๑.
ในสังสัคคะเหล่านั้น ความกำหนัดเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งจักษุ-
วิญญาณ เพราะเห็นกันและกัน ชื่อว่า ทัสสนสังคคะ (เกี่ยวข้องด้วย
การเห็น) ตัวอย่างในทัสสนสังสัคคะ มีดังนี้.
ลูกสาวกุฎุมพีเห็นภิกษุหนุ่มผู้อยู่ ณ กัลยาณีวิหาร เที่ยวไปบิณฑบาต
ในบ้านกาฬทีฆวาปี ในสีหลทวีป มีจิตปฏิพัทธ์ เมื่อไม่ได้สมความ
ปรารถนาด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาย. อีกตัวอย่างหนึ่ง ภิกษุหนุ่ม
รูปนั่นแหละ เห็นท่อนผ้าที่หญิงนั้นนุ่งห่ม คิดว่าเราคงไม่ได้อยู่ร่วมกับ
นางผู้นุ่งห่มผ้าอย่างนี้ แล้วหัวใจแตกถึงแก่มรณภาพ.

657
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖ – หน้าที่ 658 (เล่ม 67)

ก็ความกำหนัดเกิดด้วยอำนาจแห่งโสตวิญญาณ เพราะฟังสมบัติ
มีรูปเป็นต้นที่คนอื่นพูดถึง หรือฟังเสียงหัวเราะรำพันและเพลงขับด้วย
ตนเอง ชื่อว่า สวนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการฟัง).
แม้ในสวนสังสัคคะนั้นก็มีตัวอย่างดังนี้ ภิกษุหนุ่มชื่อว่า พระติสสะ
อยู่ในถ้ำปัญจัคคฬะ เหาะไปทางอากาศได้ยินเสียงลูกสาวช่างทอง ชาวบ้าน
คิริคาม กับหญิงสาว ๕ คนไปอาบน้ำยังสระปทุม เก็บดอกบัวเสียบไว้
บนศีรษะแล้วร้องเพลงด้วยเสียงดัง จึงเสื่อมจากฌานเพราะกามราคะ ถึง
ความพินาศ.
ความกำหนัดเกิดเพราะลูบคลำอวัยวะของกันและกัน ชื่อว่า กาย-
สังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยกาย). ในกายสังสัคคะนี้ มีตัวอย่าง ภิกษุหนุ่ม
สวดพระธรรม.
มีเรื่องว่า ในมหาวิหาร ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกล่าวธรรม ณ มหาวิหาร
นั้น เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยฝ่ายใน.
ลำดับนั้น ความกำหนัดอย่างแรงเกิดขึ้นแก่ราชธิดา เพราะอาศัยรูปและ
เสียงภิกษุหนุ่มนั้น แม้ภิกษุหนุ่มนั้นก็เกิดความกำหนัดด้วย. พระราชา
ครั้นทรงเห็นดังนั้น จึงทรงตั้งข้อสังเกต รับสั่งให้กั้นม่าน. ภิกษุหนุ่ม
และราชธิดาลูบคลำกันและกันแล้วกอดกันจนตายไปด้วยกัน. พวกราช-
บุรุษเอาม่านออกได้เห็นคนทั้งสองตายเสียแล้ว.
ก็ความกำหนัดเกิดขึ้นในเพราะสนทนาปราศรัยกันและกัน ชื่อว่า
สมุลลปนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องกันในเพราะสนทนากัน).
ความกำหนัดเกิดในเพราะบริโภคร่วมกันกับภิกษุและภิกษุณี ชื่อว่า

658