สั่งฆ่าแต่ไม่สำเร็จบาปไหม ?
สำหรับคำถามที่ว่า "สั่งฆ่าแต่ไม่สำเร็จบาปไหม ?" ต้องดูรายละเอียดว่า ที่ว่า "ไม่สำเร็จ" นั้น หมายความว่าอย่างไร (1) นาย (ก) สั่งนาย (ข) ให้ไปฆ่านาย (ค) แต่ไม่สำเร็จ เพราะมีผู้มาช่วยนาย (ค) ได้ทัน เลยไม่สำเร็จ หรือ (2) นาย (ก) สั่งนาย (ข) ให้ไปฆ่านาย (ค) แต่นาย (ข) ดันไปฆ่า (ง) เลยไม่สำเร็จ เพราะผิดเป้าหมาย
ถ้าเป็นกรณีที่ (1) ยังไม่เรียกว่าเป็นปาณาติบาตแก่ผู้สั่งและผู้รับสั่ง แต่ก็ยังขึ้นชื่อว่า ประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ยกเอาข้อ "ฆ่าสัตว์ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ 5 ประการ" มาเทียบได้เลย พระพุทธเจ้าให้รายละเอียดไว้ดังนี้ จะเข้าข้อไหนบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเป็นจริงนั้นๆ
- บอกให้นำสัตว์มา บาปในส่วนนี้
- ตอนนำสัตว์มา สัตว์มันมีความทุกข์ บาปในส่วนนี้อีก
- นำมาแล้วบอกให้ฆ่า บาปในส่วนนี้อีก
- สัตว์ที่กำลังถูกฆ่าอยู่นั้นเจ็บปวดเป็นทุกข์ บาปในส่วนนี้อีก
- ให้ตถาคตและสาวกตถาคต ยินดีด้วยเนื้อที่เป็นอกัปปิยะนั้น บาปในส่วนนี้อีก
ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้ สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้ ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้ สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้ ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้ ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการนี้
ถ้าเป็นกรณีที่ (2) เป็นปาณาติบาตแก่ผู้รับสั่งเท่านั้น ที่ไปฆ่าผิดคนเลยไม่สำเร็จ (เป็นเรื่องที่นาย ข ไปฆ่านาย ง เอง ไม่เกี่ยวกับนาย ก เพราะไม่ได้สั่งให้ไปฆ่านาย ง ) ดังนั้น ไม่เป็นปาณาติบาตแก่ผู้สั่ง
...แต่เมื่อภิกษุผู้สั่ง สั่งเจาะตัวว่าเธอจงแทง จงประหารจงฆ่านักรบคนนั้น ผู้สั่ง ต่ำ มีเสื้อสีแดง มีเสื้อสีเขียวซึ่งนั่งอยู่บนคอช้าง (หรือ) นั่งอยู่ตรงกลาง (หลังช้าง), ถ้าภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่านักรบคนนั้นนั่นเอง เป็นปาณาติบาตแม้ด้วยกันทั้ง ๒ รูป และในเรื่องแห่งอนันตริยกรรม ย่อมต้องอนันตริยกรรมด้วยกันทั้ง ๒ รูป ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าคนอื่นตาย ปาณาติบาต ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สั่ง...
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับข้อ "ฆ่าสัตว์ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ 5 ประการ" ดังที่กล่าวในข้างต้น นาย (ก) และ นาย (ข) ก็ยังขึ้นชื่อว่า ประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ในข้อที่ไปสั่งและรับสั่งฆ่าเป้าหมายที่ประสงค์ไว้ตั้งแต่แรก ถึงแม้ไม่สำเร็จก็ตาม