ในพระไตรปิฎก คำว่า “ไม่ใช่สมณะ” มีอยู่ 2 ความหมาย (พระปาราชิกจัดเป็นอนุปสัมบัน)
1) ไม่ใช่สมณะ แต่ยังเป็นอุปสัมบันอยู่ : กรณีไม่ใช่สมณะ แต่สถานะยังเป็นอุปสัมบัน เช่น ตรัสไว้ในสัตตสติกขันธกะว่า ผู้ยินดีทองและเงิน ไม่ใช่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร แต่ในแง่พระวินัย ภิกษุรับเงินก็ยังชื่อว่าเป็นอุปสัมบันอยู่ เพราะอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ไม่ใช่ปาราชิก แต่ที่ตรัสว่าไม่ใช่สมณะนั้น ตรัสในแง่ที่ว่า เงินทอง กามคุณทั้งห้า ไม่ควรแก่สมณะ ถ้าสมณะมีเงิน สมณะจึงมีปกติมิใช่สมณะในแบบที่ควรเป็น
...ดูก่อนนายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้ สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วน เดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้า พึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้ พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียน พึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษ พึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน....
2) ไม่ใช่สมณะ ไม่เป็นอุปสัมบัน : ไม่ใช่สมณะในความหมายนี้ หมายถึง ไม่เป็นอุปสัมบัน เพราะต้องอาบัติปาราชิก และยังมีอีกข้อ คือ ไม่เข้าเงื่อนไขในการอุปสมบทตั้งแต่แรก
...[๓๖] คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า บุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ชื่อแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่าเป็นปาราชิก
เท่าที่ค้นข้อมูลมา ความหมายที่ว่าไม่ใช่สมณะ มีดังที่ว่ามานี้ (ดูเพิ่ม ) ส่วนความหมายที่ว่า ปาราชิกแล้ว ไม่ใช่สมณะแล้ว แต่ยังให้เป็นอุปสัมบันอยู่ เพียงเพราะยังไม่สละการห่มจีวร แบบนี้ไม่มีอยู่ในพุทธพจน์และในอรรถกถาที่ไม่ขัดกับพุทธพจน์