No Favorites

เรื่องผู้สั่งฆ่า และ ผู้รับสั่ง ใครบาปมากกว่ากัน เทียบพระสูตรในพระไตรปิฎก

โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ว่า ผู้สั่งฆ่า สั่งเจาะจงตัว หรือ ไม่เจาะจงตัวก็ตาม ผู้รับสั่ง กระทำอย่างนั้น เป็นปาณาติบาต ทั้งผู้สั่ง และ ผู้รับสั่ง ไม่ว่าจะฆ่าด้วยมือตนเอง หรือสั่งให้คนอื่นฆ่า ก็ล้วนแต่เป็นปาณาติบาต

...ปาณาติบาตนั้น มีประโยค ๖ คือ ๑. สาหัตถิกประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยมือตนเอง ๒. อาณัตติกประโยค ประโยคที่สั่งให้คนอื่นฆ่า ๓. นิสสัคคิยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยอาวุธที่ชัดไป ๔. ถาวรประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยอุปกรณ์ที่อยู่กับที่ ๕. วิชชามยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยวิชา ๖. อิทธิมยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยฤทธิ์...

...บทว่า อธิฏฺฐิหิตฺวา ได้แก่ ยืนอยู่ในที่ใกล้ บทว่า อาณาเปติ ได้แก่ ภิกษุผู้สั่ง สั่งเจาะตัวหรือไม่เจาะตัว บรรดาการสั่งเจาะตัวไม่เจาะตัวนั้นครั้นหมู่เสนาฝ่ายข้าศึก ปรากฏขึ้นเฉพาะแล้ว เมื่อภิกษุผู้สั่ง สั่งไม่เจาะตัวเลยว่า เธอจงแทงอย่างนี้ จงประหารอย่างนั้น จงฆ่าอย่างนี้ เป็นปาณาติบาตแก่เธอทั้ง ๒ รูป...

...แต่เมื่อภิกษุผู้สั่ง สั่งเจาะตัวว่า เธอจงแทง จงประหารจงฆ่านักรบคนนั้น ผู้สั่ง ต่ำ มีเสื้อสีแดง มีเสื้อสีเขียวซึ่งนั่งอยู่บนคอช้าง (หรือ) นั่งอยู่ตรงกลาง (หลังช้าง) ถ้าภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่านักรบคนนั้นนั่นเอง เป็นปาณาติบาตแม้ด้วยกันทั้ง ๒ รูป...

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น ผู้สั่งฆ่า หรือ ผู้รับสั่ง ย่อมได้บาปเท่ากัน คือ ปาณาติบาต เช่น ถ้านาย (ก) สั่ง นาย (ข) ให้ไปฆ่า นาย (ค) และ นาย (ข) ก็ทำอย่างนั้น ทั้ง นาย (ก) และ นาย (ข) ย่อมได้บาปเท่ากันในการฆ่าคน แต่ก็มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้...

ถ้า นาย (ก) สั่ง นาย (ข) ให้ไปฆ่า นาย (ค) และ ก็สั่ง นาย (จ) ให้ไปฆ่า นาย (ง) และผู้รับสั่งก็ทำอย่างนั้น ในกรณีนี้ นาย (ก) จะได้บาป 2 กรรม เพราะสั่งให้ฆ่า 2 คน ส่วน นาย (ข) และ นาย (จ) ได้บาปคนละกรรม เพราะฆ่าคนละ 1 คน เพราะการกระทำนั้น นับจำนวนของผู้ที่ถูกกระทำด้วย อันนี้เป็นกรณีเจาะจง แต่ถ้าไม่เจาะจง เช่น ผู้สั่ง สั่งให้ไปฆ่าข้าศึก ผู้รับสั่งฆ่าได้มากเท่าไหร่ ผู้สั่งก็ได้เท่านั้น

...สั่งไม่เจาะตัวเลยว่า เธอจงแทงอย่างนี้ จงประหารอย่างนั้น จงฆ่าอย่างนี้ เป็นปาณาติบาตแก่เธอทั้ง ๒ รูป มีประมาณเท่าจำนวนข้าศึกที่ภิกษุผู้รับสั่งฆ่า...

...ก็บุคคลผู้ชักชวน เมื่อชักชวนคน ๑๐๐ คน ในกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น ย่อมได้อกุศลเท่ากันกับอกุศลของคนผู้ถูกชักชวนแม้ทั้งหมดนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า คนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก...

ยังมีรายละเอียดอีกเพิ่มเติม ถ้า นาย (ก) สั่ง นาย (ข) ให้ไปฆ่า นาย (ค) แต่ นาย (ค) กลับเป็นมารดาหรือบิดาของ นาย (ก) กรณีนี้ เป็นอนันตริยกรรมแก่ นาย (ก) เท่านั้น แต่ นาย (ข) นั้นบาปในส่วนฆ่ามารดาหรือบิดาของนาย (ก) และเช่นเดียวกัน ถ้าผู้รับสั่ง ไปฆ่ามารดาหรือบิดาของตนเอง เป็นอนันตริยกรรมแก่ผู้รับสั่งเท่านั้น ไม่เป็นอนันตริยกรรมแก่ผู้สั่ง

...บรรดาภิกษุผู้สั่งและผู้รับสั่งนั้น ถ้าภิกษุผู้สั่งมีมารดาและบิดาอยู่ด้วย เธอผู้สั่ง ย่อมต้อง อนันตริยกรรมด้วย ถ้ามีพระอรหันต์อยู่ด้วย เธอแม้ทั้ง ๒ รูป ย่อมต้อง อนันตริยกรรมด้วย ถ้าภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นมีมารดาและบิดาอยู่ (ในสนามรบ) ภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นแล ย่อมต้องอนันตริยกรรม...

ทำไม มารดาหรือบิดา จึงเป็นปัจจัยส่งผลมากต่อผู้กระทำ ก็เพราะมารดาหรือบิดา เป็นผู้มีคุณโดยส่วนตัวต่อผู้กระทำ (เทียบเคียงใน ทักษิณาวิภังคสูตร)

ยกตัวอย่าง ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า... แต่ถ้าให้ในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า...ให้ในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจะนับไม่ได้ จะประมาณไม่ได้... ถ้าภิกษุฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน อาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิก มันมีระดับความต่างอยู่ เพราะความต่างในคุณเป็นปัจจัย

ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ถ้า นาย (ก) สั่ง นาย (ข) ให้ไปฆ่า นาย (ส) แต่ นาย (ข) กลับไปฆ่าคนอื่นที่ไม่ใช่ นาย (ส) กรณีนี้ เป็นปาณาติบาตแก่ผู้รับสั่งเท่านั้น ไม่เป็นปาณาติบาตแก่ผู้สั่ง เพราะผู้รับสั่งไปฆ่าคนอื่น

...แต่เมื่อภิกษุผู้สั่ง สั่งเจาะตัวว่าเธอจงแทง จงประหารจงฆ่านักรบคนนั้น ผู้สั่ง ต่ำ มีเสื้อสีแดง มีเสื้อสีเขียวซึ่งนั่งอยู่บนคอช้าง (หรือ) นั่งอยู่ตรงกลาง (หลังช้าง), ถ้าภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่านักรบคนนั้นนั่นเอง เป็นปาณาติบาตแม้ด้วยกันทั้ง ๒ รูป และในเรื่องแห่งอนันตริยกรรม ย่อมต้องอนันตริยกรรมด้วยกันทั้ง ๒ รูป ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าคนอื่นตาย ปาณาติบาต ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สั่ง...

ยังมีอีก ถ้าใน ผู้สั่งฆ่าและผู้รับสั่ง (คู่ที่ 1) มีพระอรหันต์ตาย กับอีกคู่หนึ่ง (คู่ที่ 2) มีมารดาหรือบิดาของผู้สั่งเท่านั้นตาย ระหว่างสองคู่นี้ คู่ไหนมีบาปมากกว่ากัน? ตอบว่า คู่ที่ 1 บาปมากกว่า เพราะเป็นอนันตริยกรรมทั้งสองคน ส่วนคู่ที่ 2 เป็นอนันตริยกรรมแค่คนเดียว

...บรรดาภิกษุผู้สั่งและผู้รับสั่งนั้น ถ้าภิกษุผู้สั่งมีมารดาและบิดาอยู่ด้วย เธอผู้สั่ง ย่อมต้อง อนันตริยกรรมด้วย ถ้ามีพระอรหันต์อยู่ด้วย เธอแม้ทั้ง ๒ รูป ย่อมต้อง อนันตริยกรรมด้วย ถ้าภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นมีมารดาและบิดาอยู่ (ในสนามรบ) ภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นแล ย่อมต้องอนันตริยกรรม...

จากการอ้างอิงข้างต้นนี้ ระหว่าง ผู้สั่งฆ่า และ ผู้รับสั่ง นั้น ใครได้บาปมากกว่ากัน อันนี้ก็ขี้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละกรณี โดยมีปัจจัยในเรื่องของ จำนวนผู้ถูกกระทำ และ ผู้ถูกกระทำนั้นเป็นผู้มีคุณโดยส่วนตัว เช่น มารดาบิดาของตนเอง หรือ โดยส่วนรวม เช่น พระอรหันต์ หรือไม่ ยังไม่นับรวมเรื่องรายละเอียดอื่นๆ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ก็บาปพอๆกัน

กระทู้เกี่ยวข้อง :  #ปาณาติบาต มีประโยค 6 ฆ่าด้วยมือตนเอง สั่งให้คนอื่นฆ่า ฆ่าด้วยอาวุธที่ชัดไป ฆ่าด้วยอุปกรณ์ที่อยู่กับที่ ฆ่าด้วยวิชา ฆ่าด้วยฤทธิ์  #ทำแท้งเป็นปาณาติบาต  #การุณยฆาตเป็นปาณาติบาต  #สั่งฆ่าแต่ไม่สำเร็จบาปไหม ?