No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 51 (เล่ม 15)

ท่านประสงค์เอาพญาสีหเกสรราช. บทว่า มิครญฺโญ ได้แก่ ผู้เป็น
ราชา แห่งสัตว์สี่เท้าทุกชนิด. บทว่า อาสยํ ได้แก่สถานที่อยู่. บท
ว่า สีหนาทํ คือ บันลือแบบไม่กลัว. บทว่า โคจราย ปกฺกเมยฺยํ
ความว่า พึงเที่ยวไปเพื่อหาอาหาร. คำว่า วรํ วรํ ได้แก่ ฝูงเนื้อ
ตัวล่ำสัน ชั้นยอดเยี่ยม. บทว่า มุทุมํสานิ ได้แก่ เนื้อที่อ่อน
นุ่ม. บาลีว่า มธุมํสานิ ก็มี. อธิบายว่า เนื้อที่มีรสอร่อย. บทว่า
อชฺฌุเปยฺยํ ได้แก่ พึงเข้าไป. บทว่า สีหนาทํ นทิตฺวา ความ
ว่า บันลือแล้วด้วยความการุณย์ ซึ่งอาศัยความเป็นผู้กล้าของตนว่า
สัตว์เหล่าใดมีกำลังน้อย สัตว์เหล่านั้นจงหนีไป. บทว่า วิฆาสสํวฑฺโฒ
ความว่า อ้วนท้วนด้วยเนื้อที่เป็นที่เป็นเดน คือ กินเนื้อที่เป็นแดนที่
เหลือจากสัตว์อื่นกินแล้ว เติบโตขึ้น. บทว่า ทิตฺโต คืออ้วนท้วน คือ
มีร่างกายอ้วน. บทว่า พลวา คือสมบูรณ์ด้วยกำลัง. บทว่า เอตทโหสิ
ได้แก่ ได้มีแล้วเพราะเหตุไร. เพราะโทษแห่งอัสมิมานะ. ในข้อนั้นมี
อนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า วันหนึ่ง พญาสีหราชนั้น กลับจากที่แสวงหาอาหาร
ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกนั้น กำลังหนีไปเพราะความกลัว เกิดความการุณย์
จึงพูดว่า สหายรัก อย่างกลัวเลย หยุดก่อน ท่านชื่ออะไร. สุนัขจิ้งจอก
ตอบว่า เราชื่อ ชมพุกะ นาย. พญาราชสีห์จึงพูดว่า ชัมพุกะ ผู้มีวัย
เสมอกัน ตั้งแต่นี้ไปท่านสามารถอุปัฏฐากเราได้หรือ. สุนัขจิ้งจอกตอบ
ว่า เราจักอุปัฏฐากท่าน. ตั้งแต่นั้นมา สุนัขจิ้งจอกนั้น ก็อุปัฏฐาก
(พญาราชสีห์). พญาราชสีห์เมื่อกลับจากที่แสวงอาหาร ก็นำเนื้อ
ชิ้นใหญ่มาให้. สุนัขจิ้งจอกนั้นเคี้ยวกินเนื้อชิ้นใหญ่นั้นแล้วก็อยู่บนแผ่น
หินในที่ไม่ไกล. พอเวลาล่วงไปสองสามวันเท่านั้น สุนัขจิ้งจอกนั้นก็
อ้วนท้วน มีลำคอใหญ่. ครั้งนั้น พญาราชสีห์นั้นได้กล่าวกับสุนัขจิ้งจอก
นั้นว่า เฮ้ย ชัมพุกะ ท่านจักสามารถพูดว่า ในเวลาที่เราบิดกาย

51
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 52 (เล่ม 15)

ท่านสามารถจะยืนอยู่ ในที่ไม่ไกลแล้วพูดว่า ข้าแต่นาย ท่านจงโกรธ
ได้หรือไม่. สุนัขจิ้งจอกตอบว่า สามารถนาย. ในเวลาที่ราชสีห์บิดกาย
สุนัขจิ้งจอกได้ทำตามคำสั่ง เพราะการกระทำตามนั้น. พญาราชสีห์จึง
มีอัสมิมานะอย่างยิ่ง. ต่อมาวันหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกแก่ เมื่อดื่มน้ำในสระ
ได้เห็นเงาของตน เห็นร่างตนอ้วนและคอใหญ่ ไม่ทำใจว่า เราเป็น
สุนัขจิ้งจอกแก่มากแล้ว แต่สำคัญว่า แม้เราก็เป็นราชสีห์ จึงได้พูด
คำนี้กับตนว่า เฮ้ย ชัมพุกะ การที่อัตภาพนี้ของเจ้า บริโภคเนื้อที่
เป็นเดนผู้อื่น ควรแล้วหรือ เจ้ามิใช่ลูกผู้ชายหรือ แม้ราชสีห์ก็มีสี่เท้า
สองเขี้ยว สองหูและมีหางเดียว แม้อวัยวะทั้งหมดของเจ้าก็มีเหมือน
ราชสีห์ เจ้าเองมิใช่มีกำลังเพียรเกสรดอกไม้อย่างเดียวเท่านั้น. เมื่อ
สุนัขจิ้งจอกแก่คิดอย่างนี้ อัสมิมานะก็กำเริบขึ้น. ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอก
แก่นั้น ได้เกิดความสำคัญว่า เราคือใครเป็นต้น เพราะโทษแห่งอัสมิ-
มานะต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก จาหํ ความว่า เราคือใคร พญา
สีหมิคราช คือใคร พญาสีหมิคราช ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่นายของเรา
อธิบายว่า เราจะทำความอ่อนน้อมแก่สัตว์ใหญ่ทำไม. บทว่า สิคาลกํเยว
ได้แก่ ร้องอย่างสุนัขนั่นแล. บทว่า เกรณฺฑกํเยว ได้แก่ เสียงไม่น่ารัก
และไม่น่าพอใจ. คำว่า เก จ เฉเว สิคาเล ความว่า สุนัขจิ้งจอกที่ต่ำ
ทรามจะเป็นอย่างไร. คำว่า เก ปน สีหนาเท ได้แก่ ก็การบันลือ
แบบสีหะจะเป็นอย่าง. อธิบายว่า ก็การนับถือของสุนัขจิ้งจอกและของ
พญาราชสีห์ มีอะไรเกี่ยวเนื่องกัน.
บทว่า สุคตาปทาเนสุ ได้แก่ ตามสิกขา ๓ อย่าง อันเป็นลักษณะ
ของพระสุคต คือเป็นศาสนาของพระสุคต. ก็พระสุคตนั่นดำรงชีพตาม
แบบสิกขา ๓ อย่างนั้น อย่างไร. มีอยู่ พุทธศาสนิกชนเมื่อถวายปัจจัย

52
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 53 (เล่ม 15)

๔ แด่พระสุคตนั้น ย่อมถวายด้วยคิดว่า เราจะถวาย (ปัจจัย ๔) แด่พระสัม-
มาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น (ส่วน) อเจลกปาฏิกบุตร
นั้น ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อบริโภคปัจจัยที่ชนกำหนดถวายพระ
พุทธเจ้าชื่อว่าดำเนินชีวิตในศาสนาของพระสุคต. บทว่า สุคตาติริตฺตานิ
อธิบายว่า ได้ยินว่า ประชาชนเมื่อจะให้โภชนะแก่พระพุทธเจ้าเหล่า
นั้น ได้ให้แก่พระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ภาย
หลังจึงให้อาหารที่เหลือในเวลาเย็น อเจลกชื่อปาฏิกบุตร นี้ ชื่อว่า
บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ด้วยประการฉะนี้. บทว่า ตถาคเต
ความว่า ท่านสำคัญว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่พึง
เบียดเบียนคือพึงรุกราน. อีกนัยหนึ่ง. บทว่า ตถาคเต เป็นต้น เป็น
ทุติยาวิภัตติพหุวจนะ. แม้บทว่า อาสาเทตพฺพํ นี้ก็เป็นพหุวจนะเหมือนกัน
ท่านกล่าวว่าเป็นเหมือนเอกวจนะ. บทว่า อาสาทนา ได้แก่เบียดเบียน
ว่า "เราจักทำปาฏิหาริย์กับพระพุทธเจ้า".
บทว่า สเมกฺขิยาน แปลว่า พิจารณาแล้ว คือสำคัญแล้ว.
บทว่า อมญฺญิ แปลว่า ได้ถือตัว. บทว่า โกตฺถุ หมายเอา สุนัขจิ้ง
จอก. คำว่า อตฺตานํ วิฆาเส สเมกฺขิย ได้แก่ ได้เห็นอัตตภาพอ้วน
พี ในน้ำที่ใสในสระน้ำ. บทว่า ยาวตฺตานํ น ปสฺสติ ความว่า
ย่อมไม่เห็นตนตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เราเป็นสุนัขจิ้งจอกแก่ เติบ
โตขึ้นเพราะเนื้อที่เป็นเดนของพญาสีหมิคราช. บทว่า พฺยคฺโฆติ มญฺญ-
ติ ได้แก่ ย่อมสำคัญว่า เราเป็นพญาสีหมิคราช หรือถือตัวว่า เรามี
กำลังเท่ากับสีหะเป็นพยัคฆ์แท้. บทว่า ภุตฺวาน เภงฺเค ได้แก่กินกบตาม
บ่อ. บทว่า ขลมูสิกาโย ความว่า กินหนูในลานข้าว. บาทคาถาว่า
กฏสีสุ ขิตฺตานิ จ กูณปานิ ความว่า กินซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า. บท
ว่า มหาวเน คือในป่าใหญ่. บทว่า สุญฺญวเน คือในป่าเปลี่ยว. บท
ว่า วิวฑฺโฒ คือเติบโตแล้ว. คำว่า ตเถว โส สิคาลกํ อนทิ ความ

53
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 54 (เล่ม 15)

ว่า สุนัขจิ้งจอก แม้นั้น แม้เติบโตได้อย่างนี้ ก็ยังสำคัญว่า เราเป็นพวก
มิคราช ก็ร้องเหมือนสุนัขแก่ เหมือนอย่างที่เป็นสุนัขจิ้งจอกเสื่อมกำลัง
ในคราวก่อนฉะนั้น. ศิษย์ของช่างกลึงไม้ ชื่อ ชาลิยะ ได้รุกราน
ปาฏิกบุตรนั้นแล้วว่า ท่านบริโภคอาหารที่เป็นเดนแล้วติดอยู่ในลาภ
สักการะ เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวที่กินสัตว์มีกบเป็นต้นแล้วเติบโตขึ้นฉะนั้น
ด้วยคาถาแม้นี้.
บทว่า นาเคหิ คือ ด้วยเหล่าข้าง. บทว่า มหาพนฺธนา คือ
ให้พ้นจากเครื่อง คือ กิเลสใหญ่. บทว่า มหาวิทุคฺคา ความว่า
โอฆะ ๔ อย่าง ชื่อว่าหล่มใหญ่ รื้อถอนจากหล่มใหญ่นั้นแล้ว ให้ดำรง
อยู่บนบกคือพระนิพพาน. พระอรรถกถาจารย์ ครั้นแสดงบทอนุสนธิ
ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ทรงกระทำ ปาฏิหาริย์ ด้วยกถามรรค
ประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะแสดงอนุสนธิแห่งบทนี้ว่า น อคฺคญฺญํ
ปญฺญเปติ จงเริ่มเทศนาว่า อคฺคญฺญญฺจาหํ เป็นต้น
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคญฺญญฺจาหํ ความว่า ดูก่อน
ภัคควะ เราย่อมรู้ชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ และจริยาวัตรที่เกิด
ขึ้นของโลก. บทว่า ตญฺจ ปชานามิ ความว่า เรามิใช่จะทราบชัดสิ่ง
โลกสมมติว่าเลิศอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมรู้ชัดสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศนั้น
ด้วย แล้วรู้ชัดกว่านั้น คือทราบชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ จนถึงพระสัพพัญ-
ญุตญาณ. คำว่า ตญฺจ ปรชานนํ น ปรามสามิ ความว่า เราแม้เมื่อ
ทราบชัดซึ่งสิ่งนั้น ก็ไม่ยึดมั่นด้วยอำนาจของตัณหา ทิฏฐิ และ
มานะว่า เราย่อมรู้ชัดถึงสิ่งชื่อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า
พระตถาคตไม่มีความยึดถือมั่น. คำวา ปจฺจตฺตญฺเญว นิพฺพุติ วิทิตา
ได้แก่ ทรงทราบการดับกิเลส ในพระองค์ด้วยพระองค์เดียว. คำว่า ยท-
ภิชานํ ตถาคโต คือ พระตถาคตทรงรู้ คือ ทรงทราบ การดับกิเลส

54
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 55 (เล่ม 15)

คำว่า โน อนยํ อาปชฺชติ มีอธิบายว่า พระตถาคตย่อมไม่ถึงอนยะ
คือทุกข์ ได้แก่ความพินาศ เหมือนเดียรถีย์ผู้ยังไม่ทราบพระนิพพาน ฉะนั้น.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อแสดงถึงสิ่งที่เหล่าเดียรถีย์บัญญัติว่าเลิศ
จึงตรัสว่า สนฺติ ภคฺคว เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น. บทว่า อิสฺ-
สรกุตฺตํ พฺรหฺมกุตฺตํ ได้แก่ พระอิศวรทำให้ พระพรหมทำให้. อธิ-
ขายว่า พระอิศวรเนรมิตให้ พระพรหมเนรมิตให้. จริงอยู่พึงทราบว่า
พระพรหมเท่านั้น ชื่อว่าเป็นใหญ่โดยความเป็นอธิบดี ในคำว่า
อิสฺสรกุตฺตํ พฺรหฺมกุตฺตํ นี้. บทว่า อาจริยกํ คือ ความเป็นอาจารย์
ได้แก่ลัทธิของอาจารย์. ในคำว่า อาจริยกํ นั้น อาจริยวาท ชื่อว่า สิ่ง
ที่ชาวโลกสมมติกันว่าเลิศ. ก็อาจริยวาทนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
อธิบายว่า สิ่งที่ชาวโลกสมมติว่าเลิศ เราแสดงไว้ในคำว่า อาจริย-
วาทนี้ จึงตรัสว่า อคฺคญฺญํ ดังนี้. บทว่า กถํวิหิตกํ คือ ใครจักไว้
จัดไว้อย่างไร. คำที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่อธิบายพิสดารแล้วในพรหม
ชาลสูตร. บทว่า ขิฑฺฑาปโทสิกํ ได้แก่ มีมูลมาแต่เทวดาเหล่า
ขิฑฑาปโทสิกะ.
บทว่า อสตา คือไม่มีอยู่. อธิบายว่า เพราะอรรถว่าไม่มี. บท
ว่า ตุจฺฉา ได้แก่ด้วยคำเปล่า คือเว้นจากแก่นภายใน. บทว่า มุสา คือ
ด้วยมุสาวาท. บทว่า อภูเตน คือเว้นจากถ้อยคำที่เป็นจริง. บทว่า
อพฺภาจิกฺขนฺติ แปลว่า กล่าวตู่ (รา). บทว่า วิปรีโต คือ มีสัญญา
วิปริต ได้แก่ มีจิตวิปริต. บทว่า ภิกฺขโว จ ความว่า มิใช่พระสมณ-
โคดมอย่างเดียวที่วิปริต พวกภิกษุผู้ทำตามคำสอนพระสมณโคดมนั้นก็
วิปริตไปด้วย. ครั้งนั้น เพื่อจะแสดงคำกล่าวที่พวกเดียรถีย์กล่าวหมายเอา

55
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 56 (เล่ม 15)

ว่า พระสมณโคดมเป็นผู้วิปริต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า สมโณ
โคตโม เป็นต้น. บทว่า สุภวิโมกขํ ได้แก่ วัณณกสิณ.
บทว่า อสุภนฺเตฺวว ได้แก่ รู้ชัดอย่างนี้ ว่าสิ่งที่งาม และสิ่งที่ไม่งาม
ทั้งหมด จัดเป็นอสุภะ. คำว่า สุภนฺเตน ตสฺมึ สมเย ความว่า ย่อม
รู้ชัดในสมัยนั้น ว่าสิ่งนี้งาม ย่อมไม่รู้สิ่งที่ไม่งาม.
บทว่า ภิกฺขโว จ ความว่า พวกภิกษุ และสมณะอันเตวา-
สิกของเหล่าชนที่พูดอย่างนี้ (นั่นแหละ) วิปริต. บทว่า ปโหติ ได้แก่
สามารถ คือ อาจ. บทว่า ทุกฺกรํ โข ได้แก่ ปริพาชกนี้. เลื่อมใส
อย่างนี้แล้ว จึงพูดเขาว่า อหํ ภนฺเต เป็นต้น. (ความจริง) ปริพาชก
กล่าวคำนั้นด้วยความโอ้อวด คือด้วยการหลอกลวง ได้ทราบว่า ปริพาชก
นั้นมีความคิดว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมกถาประมาณเท่านี้แก่เรา
เราแม้ฟังธรรมกถานั้นแล้ว ก็ไม่สามารถบวชได้ เราควรทำตัวเหมือน
จะปฏิบัติตามคำสอนพระสมณะโคดมนั้น. เพราะเหตุนั้น ปริพาชกนั้น
จึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยความโอ้อวด คือด้วยความหลอกลวง. เพราะ
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเหมือนจะตัดขาดความเยื่อใยต่อปริพา-
ชกนั้น จึงตรัสว่า ทุกฺกรํ โข เอตํ ภคฺคว ตยา อญฺญทิฏฺฐิเกน
เป็นต้น. คำนั้นมีเนื้อความตามที่กล่าวไว้ในโปฏฐปาทสูตร. บทว่า
สาธุกมนุรกฺข ได้แก่จงรักษาให้ดี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชักชวน
ปริพาชกรักษาความเลื่อมใส (เพียงเท่าที่มีอยู่ให้ดี) ด้วยประการฉะนี้.
ปริพาชกชื่อภัคควะโคตรแม้นั้น แม้ฟังพระสูตรอย่างมากมายอย่างนี้
ก็ไม่สามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้. ก็การเทศนา (พระสูตรนี้) ได้เป็น

56
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 57 (เล่ม 15)

ปัจจัยเพื่อวาสนาในภพต่อไปของเขา. คำที่เหลือทุก ๆ บท มีเนื้อความ
ชัดเจนแล้วทั้งนั้นแล
จบ อรรถกถาปาฏิกสูตรแห่งอรรถกถาทีฆนิกาย
ชื่อสุมังคลวิลาสินี ด้วยประการฉะนี้.
จบสูตรที่ ๑

57
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 58 (เล่ม 15)

๒. อุทุมพริกสูตร
เรื่องสันธานคฤหบดี
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ใน
พระนครราชคฤห์ ก็ สมัยนั้นนิโครธปริพาชกอาศัยอยู่ในอารามปริพาชก
ของพระนางอุทุมพริกา พร้อมกันบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ ประมาณ
สามพันคน ครั้งนั้น สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลา
ข่าย เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีคิดว่า
เวลานี้ ยังไม่ถึงเวลาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
หลีกเร้นอยู่ มิใช่สมัยสมควรที่จะเข้าไปพบปะเหล่าภิกษุผู้อบรมใจ ภิกษุ
ทั้งหลายผู้อบรมใจยังหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปยังปริพา-
ชการามของพระนางอุทุมพริกา เข้าไปหานิโครธปริพาชกเสียก่อน ครั้งนั้น
แล สันธานคฤหบดีเข้าไปยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา เข้าไป
หานิโครธปริพาชก
[๑๙] สมัยนั้นแล นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับบริษัทปริพาชก
หมู่ใหญ่ กำลังสนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ ด้วยเสียงดังลั่น คือพูดเรื่อง
พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย
เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้
เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่อง
ชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก
เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ

58
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 59 (เล่ม 15)

นิโครธปริพาชกได้เห็นสันธานคฤหบดีมาแต่ไกล จึงเตือนบริษัทของตน
ให้สงบเสียงว่า ท่านทั้งหลายจงสงบเสียงหน่อย อย่างส่งเสียงดังนัก สัน-
ธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังมา สันธานคฤหบดีนี้
เป็นสาวกคนหนึ่ง ในบรรดาสาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม
ผ้าขาว อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ ท่านเหล่านี้ชอบเสียงเบา กล่าว
สรรเสริญคุณของเสียงเบา บางที สันธานคฤหบดีนี้ทราบถึงบริษัทมีเสียง
เบาแล้ว พึงเห็นความสำคัญที่จะเข้าไปหาก็ได้ เมื่อนิโครธปริพาชก
กล่าวอย่างนี้ พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งแล้ว
[๒๐] ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชก
ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้ปราศัยกับนิโครธปริพาชก ครั้นยังสัมโม-
ทนียกถาอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกันผ่านไปแล้ว จึงนั่งที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง
สันธานคฤหบดีนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว กล่าวกะนิโครธปริพาชก
ว่าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้เจริญเหล่านี้ มาพบปะสมาคมกันแล้ว มี
เสียงดังลั่นอึกทึก พากันขวนขวาย กล่าวแต่ติรัจฉานกถาต่าง ๆ โดย
ประการอื่นแล คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ ด้วยประการนั้น ๆ
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะที่สงัด มี
เสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย มีลมพัดอ่อน ๆ สมควรแก่การทำธรรมอัน
เร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้นโดยประการอื่นแล เมื่อสันธาน-
คฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า
เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงทราบว่าพระสมณโคดมจะเจรจากับใคร จะ
เข้าไปสนทนากับใคร จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดกับใคร พระปัญญาของ
พระสมณโคดมหายไปในสุญญาคาร พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่ที่
ประชุม ไม่สามารถเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายใน
อย่างเดียว เหมือนโคบอดตาข้างเดียวเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน

59
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ – หน้าที่ 60 (เล่ม 15)

ฉันใด ปัญญาของพระสมณโคดมหายไปในสุญญาคาร พระสมณโคดม
ไม่กล้าเข้าสู่ที่ประชุม ไม่สามารเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด
ณ ภายในอย่างเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เชิญเถิด คฤหบดี ขอเชิญพระ
สมณโคดมเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้ พวกเราจะพึงเหยียดหยามพระองค์ด้วย
ปัญหาข้อหนึ่ง พวกเราจะบีบรัดพระองค์เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเล่า
ฉะนั้น
เรื่องนิโครธปริพาชก
[๒๑] พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับการเจรจาระหว่าง
สันธานคฤหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ด้วยพระทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์
ล่วงโสตธาตุของมนุษย์. ครั้งนั้น สนเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจาก
ภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบก-
ขรณีสุมาคธา ครั้นแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อ
แก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระ
โบกขรณีสุมาคธา จึงเตือนบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า ขอท่านทั้งหลาย
จงสงบเสียง อย่าส่งเสียงดังนัก พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรด
เสียงเบา และกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางที พระองค์ทรงทราบ
ว่า บริษัทนี้มีเสียงเบาแล้ว พึงเห็นความสำคัญที่จะเสด็จเข้าไปก็ได้ ถ้า
ว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้ เราจะพึงทูลถามปัญหากะ
พระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำพระ
สาวก ด้วยธรรมใด สาวกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำแล้วถึงความ
เบาใจ ย่อมรู้เฉพาะซึ่งอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นอัชฌาศัย ด้วยธรรมใด

60