No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 206 (เล่ม 51)

สงสัยได้ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว อันความมืด
ท่วมทับ ทรงกำจัดความมืดได้ ส่งแสงโชติช่วงอยู่
เพราะพระญาณของพระองค์ พระองค์ผู้มีพระจักษุ
เป็นผู้ทรงบรรเทาความมืดมนของสัตว์ทั้งปวง ชนเป็น
อันมากฟังธรรมของพระองค์แล้ว จักนิพพานดังนี้แล้ว
เราเอาน้ำผึ้งรวง อันไม่มีตัวผึ้งใส่เต็มหม้อแล้ว ประ-
คองด้วยมือทั้งสอง น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระมหาวีรเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง ทรงรับ
ด้วยพระหัตถ์อันงาม ก็พระสัพพัญญูเสวยน้ำผึ้งนั้น
แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ พระศาสดาพระนามว่า
อัตถทัสสีนราสภ ประทับอยู่ในอากาศ ทรงยังจิต
ของเราให้เลื่อมใส ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใด
ชมเชยญาณนี้ และชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น ผู้นั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ และผู้นั้น
จักเสวยเทวรัชสมบัติ ๔๖ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้า
ประเทศราช ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้า
ประเทศราช เสวยสมบัติอยู่ในแผ่นดินนับไม่ถ้วน
จักเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์รู้จบไตรเพท จักบวช
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า
โคดม จักพิจารณาอรรถอันลึกซึ้ง อันละเอียดได้ด้วย
ญาณ จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า 'โมฆราช'
จักถึงพร้อมวิชชา ๓ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มี

206
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 207 (เล่ม 51)

อาสวะ พระโคดมผู้ทรงเป็นยอดของผู้นำหมู่ จักทรง
ตั้งผู้นั้นไว้ ในเอตทัคคสถาน เราละกิเลสเครื่อง
ประกอบของมนุษย์ ตัดเครื่องผูกพันในภพ กำหนดรู้
อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่. เราเผากิเลส
ทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระ-
ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ทรงผ้าบังสุกุลจีวร อันประกอบ
ด้วยความเศร้าหมอง ครบทั้ง๓ อย่างคือ เศร้าหมองด้วยมีด เศร้าหมองด้วย
ด้าย (และ) เศร้าหมองด้วยน้ำย้อม ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้
ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองทั้งหลาย.
ในเวลาต่อมา โรคทั้งหลายมีหิดเปื่อยและต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น เกิดลุกลาม
ไปตามร่างกายของพระเถระ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย (และ) เพราะไม่ทำ
ความสะอาดร่างกาย. พระเถระคิดว่า เสนาสนะทำให้ร่างกายเดือดร้อน จึง
เอาเครื่องลาดที่ทำด้วยฟาง ในนาของชาวมคธ มาปูลาดนอนแม้ในเหมันตฤดู
วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามท่าน ผู้เข้าไปสู่ที่บำรุง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วน
ข้างหนึ่ง โดยทำนองปฏิสันถาร ด้วยพระคาถาที่ ๑ ใจความว่า
ดูก่อนโมฆราชภิกษุ ผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง
แต่มีจิตผ่องใส ท่านเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์ จักทำ
อย่างไรตลอดราตรี แห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉวิปาปก ความว่า ดูก่อนท่านผู้ชื่อว่า
มีผิวพรรณเศร้าหมอง คือ ชื่อว่า มีผิวพรรณไม่ผ่องใส เพราะความเป็นผู้
มีผิวพรรณ แตกไหลเยิ้มไปด้วย หิดเปื่อย หิตด้าน และต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น.

207
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 208 (เล่ม 51)

บทว่า จิตฺตภทฺทก ความว่า ดูก่อนท่านผู้ชื่อว่า มีจิตงามคือมีจิต
อันสุนทร เพราะละกิเลสได้โดยไม่เหลือ และเพราะมีพรหมวิหารธรรมเป็น
เครื่องเสพ.
บทว่า โมฆราช เป็นคำเรียกพระเถระนั้น.
บทว่า สตตํ สมาหิโต ความว่า เป็นผู้มีมนัสประกอบแล้ว ด้วย
อัครผลสมาธิ ตลอดกาลเป็นนิตย์ คือเป็นประจำ.
บทว่า เหมนฺตกสีตกาลรตฺติโย ความว่า ตลอดรัตติกาลอัน
หนาวเย็นในเหมันตสมัย. ก็บทนี้ เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอัจจันตสังโยคะ.
(บางแห่ง) บาลีเป็น เหมนฺติกาสีตกาลรตฺติโย ก็มี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหมนฺติกา ความว่า ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
คือนับเนื่องในฤดูเหมันต์.
บทว่า ภิกฺขุ ตฺวํสิ ความว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจะเป็นอย่างไร
คือเธอมีสภาพเป็นอย่างนี้ เมื่อผู้อื่นไม่ทำเสนาสนะให้ท่าน และท่านก็ไม่เข้า
ไปสู่เสนาสนะอันเป็นของสงฆ์.
บทว่า กถํ กริสฺสสิ ความว่า พระศาสดาตรัสถามว่า เธอจักยัง
อัตภาพให้เป็นไปได้อย่างไร ในฤดูกาลอันหนาวเย็นเช่นที่กล่าวแล้ว. ก็พระเถระ
อันพระศาสดาตรัสถามแล้วอย่างนี้ เมื่อจะกราบทูลความนั้น จึงกล่าวคาถา
ความว่า
ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธล้วนแต่
สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง
แล้วนอนให้เป็นสุข เหมือนคนเหล่าอื่น ที่มีการเป็น
อยู่อย่างเป็นสุข ฉะนั้น ดังนี้.

208
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 209 (เล่ม 51)

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนสฺสา ความว่า มีข้าวกล้า
สำเร็จแล้ว (คือสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว).
พระเถระเรียกแคว้นมคธว่า มคธา ราชกุมารชาวชนบททั้งหลาย
ชื่อว่า มคธ ชนบทแม้แห่งเดียวอันเป็นที่อยู่ของราชกุมารชาวชนบทเหล่านั้น
ท่านก็เรียกเป็นพหุวจนะว่า มคธา เหมือนกัน โดยเป็น รุฬหี ศัพท์.
บทว่า เกวลา ความว่า ไม่มีส่วนเหลือ.
บทว่า อิติ เม สุตํ ความว่า อันข้าพระองค์ฟังมาแล้วอย่างนี้.
บทว่า สุตํ ท่านกล่าวแล้ว ด้วยสามารถแห่งประเทศที่ท่านยังไม่
เคยเห็น ในบรรดาประเทศเหล่านั้น. ด้วยบทว่า อิติ เม สุตํ นี้ พระเถระ
แสดงความหมายว่า ในกาล (อันหนาวเย็น) เช่นนี้ เราสามารถจะอยู่ใน
แคว้นมคธ ได้ทุกแห่งหน.
บทว่า ปลาลจฺฉนฺนโก เสยฺยํ ยถญฺเญ สุขชีวิโน ความว่า
พระเถระประกาศยถาลาภสันโดษของตนว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่สุขสบายเหล่าอื่น
ได้เสนาสนะอันเป็นที่สบายแล้ว ย่อมนอนโดยมีความสุข เพราะเครื่องลาด
และผ้าห่มที่ดีฉันใด แม้ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ชื่อว่า คลุมกายด้วยฟาง เพราะ
เบื้องล่างก็ปูลาดด้วยฟางอย่างเดียว ข้างบนและด้านขวาง ก็คลุมร่างด้วย
เครื่องปกคลุมคือฟางเท่านั้น นอนได้อย่างสบาย คือ นอนได้เป็นสุข.
จบอรรถกถาโมฆราชเถรคาถา

209
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 210 (เล่ม 51)

๕. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระ*
[๓๐๒] ได้ยินว่า พระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้
อย่างนี้ว่า
พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ดังนี้คือ ไม่พึง
ยกตน ๑ ไม่ข่มบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบกระทั่ง
บุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่
ชุมนุมชน เพื่อมุ่งลาภผล ๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่านกล่าวแต่
พอประมาณ มีวัตร ๑ ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก พึงเป็น
ผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มีปัญญา
เฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตามเยี่ยงอย่าง
ของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้พระนิพพานไม่ยากเลย.
อรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา
คาถาของท่านพระวิสาขปัญจาลบุตรเถระ เริ่มต้นว่า น อุกฺขิเป โน
จ ปริกฺขิเป ปเร. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ ทั้งหลาย สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ
เกิดในตระกูลที่ยากจน ในปัจจันตคาม ในพุทธกัปต่อแต่นี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว
วันหนึ่ง ไปป่า พร้อมกับคนทั้งหลายในปัจจันตคาม ผู้เที่ยวหาผลไม้ เห็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในป่านั้น มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลวัลลิ.
* อรรถกถาเป็น วิสาขปัญจาลบุตรเถระ

210
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 211 (เล่ม 51)

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิด
ในตระกูลของพระเจ้ามัณฑลิกะ แคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้มีนามว่า
วิสาขะ ภายหลังปรากฏนามว่า ปัญจาลปุตตะ เพราะความเป็นพระโอรส
แห่งราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละ เมื่อพระชนกสวรรคตแล้ว เขาก็เสวยราช
สมบัติ เมื่อพระศาสดาเสด็จมาใกล้วังของพระองค์ ก็ไปสู่สำนักของพระศาสดา
ฟังธรรมแล้ว ได้มีจิตศรัทธา บวชแล้ว ไปสู่พระนครสาวัตถีกับพระศาสดา
เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถา
ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ในกาลนั้น ชนทั้งปวงชักชวนกันมาสู่ป่า เขา
เหล่านั้นแสวงหาผลไม้ ก็หาผลไม้ได้ในกาลนั้น ใน
ป่านั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้สยัมภู ผู้ไม่เคย
พ่ายแพ้ เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผล
วัลลิ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใด
ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็น
ผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว ได้กลับไปภูมิลำเนาเดิม เพื่อ
อนุเคราะห์หมู่ญาติ มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น เข้าไปหาพระเถระแล้ว ฟังธรรม
ตามกาลตามโอกาส วันหนึ่ง ถามพระเถระถึงลักษณะของพระธรรมกถึกว่า ข้า
แต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณเท่าไรหนอแล จึงจะเป็นพระธรรม-
กถึกได้ พระเถระเมื่อจะบอกลักษณะของพระธรรมกถึก แก่เขาเหล่านั้น ได้
กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

211
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 212 (เล่ม 51)

พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ดังนี้คือ ไม่พึง
ยกตน ๑ ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบ
กระทั่งบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดีของตน
ในที่ชุมนุมชน เพื่อมุ่งลาภผล ๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน
กล่าวแต่พอประมาณ มีวัตร ๑ ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก
พึงเป็นผู้มีปกติ เห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มี
ปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตาม
เยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้นิพพานไม่ยาก
เลย ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุกฺขิเป ความว่า ไม่พึงยกขึ้นซึ่ง
ตน คือไม่พึงทำการยกตน ด้วยตระกูลมีชาติเป็นต้น และด้วยคุณสมบัติ มี
พาหุสัจจะเป็นต้น.
บทว่า โน จ ปริกฺขิเป ปเร ความว่า ไม่พึงข่มผู้อื่น คือ
บุคคลอื่น ด้วยชาติเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล คือไม่พึงกดผู้อื่นโดยปกปิดคุณ
หรือไม่พึงกดผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการทำลายคุณความดี. พึงเชื่อมความ
อย่างนี้ว่า ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น คือไม่กระทบกระทั่งบุคคลอื่น
ด้วยสามารถแห่งการเพ่งโทษ ได้แก่ ไม่พึงมองผู้อื่นอย่างเหยียดหยาม อธิบาย
ว่า น อุกฺขิเป ความก็อย่างนั้นแหละ.
บทว่า ปารคตํ ความว่า ไม่พึงกระทบกระทั่ง คือไม่พึงห้าม
ไม่พึงเสียดสี ได้แก่ ไม่พึงดูหมิ่น ซึ่งพระขีณาสพผู้ถึงฝั่งแห่งวิชชา ดุจถึง
ฝั่งแห่งสงสาร ผู้มีวิชชา ๓ หรือมีอภิญญา ๖.

212
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 213 (เล่ม 51)

บทว่า น จตฺตวณฺณํ ปริสาสุ พฺยาหเร ความว่า ผู้มุ่งลาภ
สักการะและความสรรเสริญ ไม่พึงกล่าวสรรเสริญคุณของตน ในบริษัทของ
กษัตริย์เป็นต้น.
บทว่า อนุทฺธโต ความว่า เว้นจากความฟุ้งซ่าน อธิบายว่า
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ยินดีด้วยคำของผู้ที่ฟุ้งซ่าน.
บทว่า สมฺมิตภาณี ความว่า กล่าวด้วยคำพอประมาณ โดยชอบ
นั่นเทียว อธิบายว่า มีปกติกล่าวถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์เท่านั้น
มีที่อ้างอิง มีที่สุด ตามกาล. ถ้อยคำของผู้ที่กล่าว นอกเหนือไปจากนี้ ย่อม
ไม่เป็นที่เชื่อถือ.
บทว่า สุพฺพโต ผู้มีวัตรอันงาม คือสมบูรณ์ด้วยศีล พึงนำบท
กิริยาว่า สิยา มาประกอบเข้าด้วย.
พระเถระกล่าวลักษณะของพระธรรมกถึก โดยสังเขปเท่านั้น อย่างนี้
แล้ว น้อมใจนึกถึงความที่คุณเหล่านั้น เป็นเหตุให้ตนได้รับความยกย่องนับถือ
รู้ว่า มหาชนมีความเลื่อมใสจนเกินประมาณ เมื่อจะแสดงความว่า พระนิพพาน
ไม่เป็นคุณอันพระธรรมกถึกผู้มีลักษณะอย่างนี้ อาศัยวิมุตตายตนะแล้วจะพึง
ได้โดยยาก คือหาได้ง่ายโดยแท้แล จึงกล่าวคาถาที่ ๒ มีอาทิว่า สุสุขุม-
นิปุณตฺถทสฺสินา ดังนี้.
ความแห่งคาถาที่สองนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังแล้วทั้งนั้น.
จบอรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา

213
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 214 (เล่ม 51)

๖. จูฬกเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระจูฬกเถระ
[๓๐๓] ได้ยินว่า พระจูฬกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอ
เขียวงาม ปากก็งาม มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้อง
รื่นรมย์ใจ อนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าเขียวชอุ่มดูงาม
มีน้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกอันงาม ท่านก็
มีใจเบิกบานควรแก่งาน จงเพ่งฌาน ที่พระโยคาวจร
ผู้มีใจดีเจริญแล้ว มีความบากบั่น ในพระพุทธศาสนา
เป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด อันเป็นธรรมขาว
ผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน.
อรรถกถาจูฬกเถรคาถา
คาถาของท่านพระจูฬกเถระ เริ่มต้นว่า นทนฺติ โมรา สุสิขา
สุเปขุณา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ ทั้งหลาย เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพ
นั้น ๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า
สิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดา
มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายผลฉัตตปาณี.

214
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ – หน้าที่ 215 (เล่ม 51)

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า
จูฬกะ เจริญวัยแล้ว ได้ความเลื่อมใสในพระศาสดา ในคราวที่ทรงทรมาน
ช้าง ชื่อ ธนบาล บวชแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในถ้ำอินทสาระ วันหนึ่ง
ท่านนั่งอยู่ที่ประตูถ้ำ แลดูนาของชาวมคธ.
ในขณะนั้น เมฆที่ยังฝนให้ตกตามฤดูกาล ส่งเสียงร้องดังก้องไพเราะ
หนาตั้งร้อยชั้น พันชั้น ยังฝนให้ตกเต็มทั่วท้องฟ้า งามสกาวเหมือนยอดอัญชัน
และฝูงนกยูง ฟังเสียงเมฆคำรน พากันร่าเริงยินดี ส่งเสียงร่ำร้องรื่นรมย์
พากันเที่ยวรำแพนไปในประเทศนั้น ๆ. ในเมื่อกรชกายสงบระงับแล้ว เพราะ
ความร้อนในฤดูร้อนผ่านไป โดยสัมผัสแห่งลมฝน ทำให้ห้องอันเป็นที่อยู่
แม้ของพระเถระถึงความเยือกเย็น จิตก็เป็นเอกัคคตารมณ์ เพราะได้ฤดูเป็น
ที่สบาย หยั่งลงสู่แนวกรรมฐาน. พระเถระรู้ดังนั้นแล้ว เมื่อจะยังจิตให้มี
อุตสาหะในภาวนา โดยมุขคือการแสดงความถึงพร้อมแห่งกาลเป็นต้น ได้กล่าว
คาถา ๒ คาถา ความว่า
นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอ
เขียวงาม ปากงาม มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้องรื่นรมย์
ใจ อนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าเขียวชอุ่ม ดูงาม มี
น้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกงดงาม ท่านก็มีใจ
เบิกบานควรแก่การงาน จงเพ่งฌานที่พระโยคาวจร
ผู้มีใจดีเจริญแล้ว มีความบากบั่นในพระพุทธศาสนา
เป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด อันเป็นธรรมขาว
ผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน
ดังนี้.

215