No Favorites




หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 21 (เล่ม 1)

มิได้อํานวยประโยชน์ไร ๆ แก่ชาวภิกษุใน
เกาะอื่น เพราะท่านเรียบเรียงไว้ด้วยภาษา
ชาวเกาะสิงหล ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้รําลึกอยู่
ด้วยดีโดยชอบ ถึงคําเชิญของพระเถระนาม
ว่า พุทธสิริ จึงจักเริ่มด้วยดี ซึ่งการสังวรรณ-
นานี้ อันควรแก่นัยพระบาลี ณ บัดนี้. และ
เมื่อจะเริ่มด้วยดี ซึ่งสังวรรณนานั้น จักเอา
มหาอรรถกถาเป็นโครงของสังวรรณนานั้นไม่
ละข้อความอันควร แม้จากวินิจฉัย ซึ่ง
ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาปัจจรี และ
อรรถกถาอันปรากฏด้วยดี โดยชื่อว่ากุรุนที
เป็นต้น กระทําเถรวาทไว้ในภายในแล้ว จึง
จักเริ่มต้นด้วยดีโดยชอบซึ่งสังวรรณนา ขอภิกษุ
ทั้งหลายปูนเถระ ปูนใหม่ และปานกลาง
ผู้มีจิตเลื่อมใสเคารพนับถือพระธรรมของ
พระตถาคตเจ้า ผู้มีดวงประทีปคือพระธรรม
จงตั้งใจฟังสังวรรณนานั้นของข้าพเจ้า โดย
เคารพเถิด.
พระอรรถกถาจารย์ชาวสิงหล มิได้
ละมติ (อธิบาย) ของท่านพุทธบุตรทั้งหลาย
ผู้รู้ธรรมวินัย เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ ได้แต่อรรถกถาในปางก่อน. เพราะ

21
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 22 (เล่ม 1)

เหตุนั้นแล คําที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถา
ทั้งหมดยกเว้นคําที่เขียนด้วยความพลั้งพลาด
เสีย ย่อมเป็นประมาณแห่งบัณฑิตทั้งหลาย
ผู้มีความเคารพในสิกขาในพระศาสนานี้. ก็
เพราะแม้วรรณนานี้ จะแสดงข้อความแห่ง
คําทั้งหลายที่มาในพระสุตตันตะให้เหมาะสม
แก่พระสูตร ละทิ้งภาษาอื่นจากอรรถกถานั้น
เสียทีเดียว และย่นพลความพิสดาร ( คํา
ประพันธ์ที่พิสดาร ) ให้รัดกุมเข้า ก็จักไม่ให้
เหลือไว้ ซึ่งข้อวินิจฉัยทั้งปวง ไม่ข้ามลําดับ
พระบาลีที่เป็นแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรตามศึกษาวรรณนา
นี้โดยเอื้อเฟื้อแล.*
เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคาถาเหล่านั้นว่า จักพรรณนาพระวินัย
ดังนี้ ผู้ศึกษาควรกําหนดพระวินัยก่อนว่า วินัยนั้น คืออะไร? เพราะฉะนั้น
ข้าพเจ้าจึงกล่าวคํานี้ว่า ที่ชื่อว่า วินัย ในที่นี้ประสงค์เอาวินัยปิฎกทั้งสิ้น.
ก็เพื่อจะสังวรรณนาพระวินัยนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวมาติกาดังต่อไปว่า
พระวินัยปิฎกนี้ ผู้ใดกล่าวไว้ กล่าว
ในกาลใด กล่าวไว้เพราะเหตุใด ผู้ใดทรงไว้
*นย. สารตฺถทีปนี ๑/๔๓-๔๗ ว่า เพราะแม้วรรณนานี้ ซึ่งจะแสดงข้อความแห่งถ้อยคําอันมา
ในพระสุตตันตะให้เหมาะสมกับพระสูตรข้าพเจ้าก็จักละภาษาอื่นจากอรรถกถานั้นเสียเลย
และ
ย่นพลความที่พิสดารให้รัดกุมเข้า ไม่ละทิ้งข้อวินิจทั้งปวงให้เหลือไว้ ไม่ข้ามลําดับพระ
บาลี
ที่เป็นแบบแผนอะไร ๆ แล้วจักรจนา, เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาควรตั้งใจสําเหนียกวรรณนานี้
แล.

22
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 23 (เล่ม 1)

ผู้ใดนําสืบมา และตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด
ข้าพเจ้ากล่าววิธีนี้แล้ว ภายหลังจักแสดง
เนื้อความแห่งปาฐะว่า " เตน " เป็นต้นโดย
ประการต่าง ๆ ทําการพรรณนาอรรถแห่ง
พระวินัย.
บรรดามาติกาเหล่านั้น คําว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา นี้
ท่านอาจารย์กล่าวหมายเอาคํามีอาทิอย่างนี้ก่อนว่า โดยสมัยนั้นพระผู้มีพระภาค-
เจ้าประทับอยู่ ( ณ โคนต้นไม้สะเดาอันนเฬรุยักษ์สิงสถิต ) ใกล้เมืองเวรัญชา๑.
เพราะคํานี้มิใช่เป็นคําที่กล่าวให้ประจักษ์กับพระองค์เองแห่งพระผู้มีพระภาค-
เจ้า๒. เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงควรกล่าวตั้งปัญหานั่นดังนี้ว่า คํานี้ใครกล่าวไว้
กล่าวไว้ในกาลไหน และเพราะเหตุไร จึงกล่าวไว้. ( แก้ว่า ) คํานี้ท่านพระ-
อุบาลีเถระกล่าวไว้ ก็แลคํานั้น ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้ในคราวทําปฐม-
มหาสังคีติ (ในคราวทําสังคายนาใหญ่ครั้งแรก). อันชื่อว่า ปฐมมหาสังคีตินี้
พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้กล่าวแล้วในปัญจสติกสังคีติขันธกะแม้ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ๓ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในนิทานบัณฑิตควรทราบตามนัยนี้ แม้ใน
อรรถกถานี้.
๑. วิ.มหา. ๑/๑. ๒. นย. สารตฺถทิปนี ๑/๓๙ ว่า คือมิใช่เป็นพระดํารัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสไว้ หรือเป็นคําที่ท่านกล่าวไว้ในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
๒. วิ. จลฺ . ๗/๓๗๙.

23
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 24 (เล่ม 1)

พาหิรนิทานวรรณนา
[ปรารภมูลเหตุทําปฐมสังคายนา]
๑ความพิสดารว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลกทรง
บําเพ็ญพุทธกิจ ตั้งแต่ทรงยังพระธรรมจักรให้เป็นไปเป็นต้น จนถึงโปรด
สุภัททปริพาชกแล้วเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในเวลา
ใกล้รุ่ง ในวันวิสาขปุณณมี ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ในสาลวัน อันเป็นที่เสด็จ
ประพาสของเจ้ามัลละทั้งหลาย ใกล้กรุงกุสินารา ท่านพระมหากัสสปผู้เป็น
พระสังฆเถระแห่งภิกษุประมาณ ๗ แสนรูป ซึ่งประชุมกันในสถานที่ปรินิพพาน
แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ระลึกถึงคําที่สุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าว เมื่อพระผู้มี
พระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๗ วันว่า อย่าเลย ผู้มีอายุทั้งหลาย !
ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกไปเลย ท่านทั้งหลายอย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้น
ดีแล้วจากพระมหาสมณะพระองค์นั้น ด้วยว่าพวกเราถูกพระมหาสมณะ
พระองค์นั้น คอยรบกวนห้ามปรามว่า นี้สมควรแก่เธอทั้งหลาย นี้ไม่สมควร
แก่เธอทั้งหลาย ดังนี้ ก็บัดนี้พวกเราจักปรารถนากระทํากรรมใด ก็จักทํา
กรรมนั้น พวกเราจักไม่ปรารถนากระทํากรรมใด จักไม่ทํากรรมนั่น๒ ดังนี้
ดําริอยู่ว่า ข้อที่พวกปาปภิกษุ จะพึงเป็นผู้สําคัญเสียว่า ปาพจน์มีพระศาสดา
ล่วงไปแล้ว ดังนี้ ได้พรรคพวกแล้วพึงยังพระสัทธรรมให้อันตรธานได้ไม่นาน
เลย เรื่องนี้เป็นฐานะที่มีได้แน่. ความจริง พระวินัยยังตั้งอยู่ตราบใด
ปาพจน์ยังมีพระศาสดาไม่ล่วงไปแล้วตราบนั้น ข้อนี้สมด้วยพระดํารัสที่พระผู้มี-
๑. องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๐
๒. วิ. จลฺ. ๗ / ๓๘๐

24
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 25 (เล่ม 1)

พระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อานนท์ ! ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว
แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลล่วง
ไปแห่งเรา๑ ดังนี้ อย่ากระนั้นเลย เราพึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย
ซึ่งจะเป็นวิธีที่พระศาสนานี้จะพึงดํารงมั่นตั้งอยู่สิ้นกาลนาน. อนึ่ง โดยเหตุที่
เราเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสป ! เธอจักทรงผ้าบังสุกุลอันทํา
ด้วยป่านของเรา ซึ่งเราใช้นุ่งห่มแล้วหรือ ดังนี้ แล้วทรงอนุเคราะห์ด้วย
สาธารณบริโภคในจีวร และด้วยการทรงยกย่องไว้เทียบเทียมพระองค์ในอุตริ-
มนุสธรรม มีอนุปุพพวิหารเก้า และอภิญญาหกเป็นประเภท โดยนัยมีอาทิ
อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ! เราจํานงอยู่เพียงใด เราสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย
เทียว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน อยู่ได้เพียงนั้น ภิกษุทั้งหลาย !
แม้กัสสปจํานงอยู่เพียงใด เธอสงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเข้าถึงพร้อม
ซึ่งปฐมฌานอยู่ได้เพียงนั้นเหมือนกัน๒ ดังนี้ ความเป็นผู้ไม่มีหนี้อย่างอื่นอะไร
จักมีแก่เรานั้นได้, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเราว่า กัสสปนี้จักเป็นผู้ดํารง
วงศ์พระสัทธรรมของเรา ดังนี้แล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยอสาธารณานุเคราะห์นี้
ดุจพระราชาทรงทราบพระราชโอรสผู้จะดํารงวงศ์สกุลของพระองค์แล้ว ทรง
อนุเคราะห์ด้วยการทรงมอบเกราะของพระองค์และพระอิสริยยศฉะนั้น มิใช่หรือ
ดังนี้ จึงยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อสังคายนาพระธรรมวินัย๓
เหมือนอย่างที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ครั้นนั้นแล ท่านพระมหา -
กัสสป ได้เตือนภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย! สมัยหนึ่งเราพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากเมืองปาวา มาสู่
เมืองกุสินารา๔ ดังนี้เป็นต้น. สุภัททกัณฑ์ทั้งปวง ผู้ศึกษาพึงทราบโดยพิสดาร.
๑. ที. มหา. ๑๐ / ๑๗๘. ๒. นิทาน. ๑๖ / ๒๐๖ ๓. วิ. จุลฺ. ๗/๓๘๐.
๒. วิ. จุลฺ. ๗ /๓๗๙

25
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 26 (เล่ม 1)

[พระมหากัสสปชักชวนทําสังคายนา]
เบื้องหน้าแต่นั้น ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย !
เอาเถิด เราทั้งหลายจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยกัน เพราะว่า ในกาล
เบื้องหน้า อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะ
ถูกขัดขวาง ในกาลภายหน้า พวกอธรรมวาทีจะมีกําลัง พวกธรรมวาทีจะ
หย่อนกําลัง พวกอวินัยวาทีจะมีกําลัง พวกวินัยวาทีจะหย่อนกําลัง ๑ ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลายได้เรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระ
โปรดคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด.๒
[พระมหากัสสปคัดเลือกภิกษุ ๔๙๙ รูป]
พระเถระเว้นภิกษุผู้เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระ-
อนาคามี และพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้ทรงพระปริยัติ คือนวังคสัตถุศาสน์
ทั้งสิ้นเสียจํานวนหลายร้อยและหลายพัน เลือกเอาเฉพาะพระภิกษุขีณาสพ
เท่านั้น มีจํานวน ๔๙๙ รูป ผู้ทรงไว้ซึ่งประเภทแห่งสรรพปริยัติ คือ
พระไตรปิฎก ได้บรรลุปฏิสัมภิทามีอานุภาพมาก แตกฉานในไตรวิชชาเป็นต้น
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นสู่เอตทัคคะโดยมาก ผู้ซึ่งพระธรรมสังคาห-
กาจารย์หมายถึงจึงกล่าวคํานี้ว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปได้คัดเลือก
พระอรหันต์ ๔๙๙ รูป๓ ดังนี้เป็นต้น.
[ทําสังคายนาจะเว้นพระอานนท์ไม่ได้]
ถามว่า ก็พระเถระทําให้หย่อนอยู่ ๑ รูป เพื่อใคร ? แก้ว่า เพื่อให้
โอกาสแก่ท่านพระอานนทเถระ. จริงอยู่ การสังคายนาธรรมไม่อาจทําทั้งร่วม
๑-๒ วิ. จุลฺ. ๔ / ๓๘๐. ๓. วิ. จุล. ๗ / ๓๗๕-๓๘๐

26
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 27 (เล่ม 1)

ทั้งแยกจากท่านพระอานนท์นั้นได้ เพราะท่านพระอานนท์นั้นยังเป็นพระเสขะ
มีกิจจําต้องทําอยู่, ฉะนั้นจึงไม่อาจทําร่วมกับท่านได้, แต่เพราะวังคสัตถุศาสน์
มีสุตตะ เคยยะ เป็นต้น อะไร ๆ ที่พระทศพลแสดงแล้ว ชื่อว่าท่านมิได้รับ
เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี, เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจจะเว้น
ท่านได้, ถามว่า ถ้าเมื่อไม่อาจทําอย่างนั้นได้ ถึงแม้ท่านยังเป็นพระเสขะอยู่
พระเถระควรเลือก เพราะเป็นผู้มีอุปการะมากแก่การสังคายนาพระธรรม
เมื่อมีความจําเป็นต้องเลือกอย่างนั้น เพราะเหตุไร พระเถระจึงไม่เลือกท่าน.
แก้ว่า เพราะจะเว้นคําค่อนขอดของผู้อื่น. ความจริง พระเถระเป็นผู้คุ้นเคย
ในท่านพระอานนท์อย่างยิ่งยวด. จริงอย่างนั้น แม้เมื่อศีรษะหงอกแล้ว ท่าน
พระมหากัสสป ก็ยังเรียนท่านพระอานนท์นั้นโดยใช้กุมารกวาทะว่า เด็กคนนี้
ไม่รู้จักประมาณเสียเลย ดังนี้. อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้ประสูติในศากยสกุล
เป็นพระภาดาของพระตถาคตเป็นโอรสของพระเจ้าอาว์, จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย
จะสําคัญในพระมหากัสสปเถระนั้นเหมือนถึงฉันทาคติ จะพึงกล่าวค่อนขอดว่า
พระเถระเว้นภิกษุทั้งหลายผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาเป็นอเสขะเสียเป็นอันมาก ได้
เลือกเอาพระอานนท์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเป็นเสขะ. พระเถระเมื่อจะเว้นคํา
ค่อนขอดของผู้อื่นนั้นเสีย, คิดว่า การสังคายนาไม่อาจทําโดยเว้นพระอานนท์
เสีย เราจักรับเอาพระอานนท์เข้าด้วย ตามอนุมัติของภิกษุทั้งหลายเท่านั้น
จึงมิได้เลือกพระอานนท์นั้นเข้าด้วย.
[ภิกษุทั้งหลายขอให้เลือกพระอานนท์]
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันวิงวอนพระเถระ เพื่อต้องการให้เลือก
พระอานนท์เสียเองทีเดียว เหมือนอย่างที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า พวก
ภิกษุได้กล่าวคํานี้กะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านผู้เจริญ ! ถึงท่านอานนท์นี้

27
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 28 (เล่ม 1)

จะยังเป็นเสขะ เป็นผู้ไม่ควรถึงความลําเอียงเพราะความรัก ความชังความหลง
ความกลัวก็จริง, ถึงกระนั้นธรรมและวินัย ที่ท่านได้เล่าเรียนในสํานักของ
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีมาก, ท่านผู้เจริญ ! ถ้ากระนั้น ขอพระเถระโปรดเลือก
พระอานนท์เข้าด้วยเถิด๑ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป จึงได้เลือกท่าน
อานนท์เข้าด้วย ๒ รวมกับท่านนั้นที่ท่านพระมหากัสสปเลือกตามอนุมัติของ
ภิกษุทั้งหลาย ๓ จึงเป็นพระเถระ ๕๐๐ รูป ด้วยประการฉะนี้.
[เลือกกรุงราชคฤห์เป็นที่ทําปฐมสังคายนา]
ครั้งนั้นแล ภิกษุเถระทั้งหลายได้มีความปริวิตกอย่างนี้ ว่า พวกเรา
จะพึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ณ สถานที่ไหนหนอแล ครั้งนั้นแล
ภิกษุเถระทั้งหลายได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า กรุงราชคฤห์แล มีที่โคจรกว้างขวาง
มีเสนาสนะมากมาย, อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงอยู่จําพรรษาในกรุงราชคฤห์
ทําสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด, ภิกษุเหล่าอื่นไม่ควรเข้าจําพรรษาใน
กรุงราชคฤห์. ๔ ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านเหล่านั้นจึงปรึกษาตกลงกันดังนั้น.
แก้ว่า เพราะจะมีวิสภาคบุคคลบางคนเข้าไปสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงคัดค้าน
ถาวรกรรมของพวกเรานี้เสีย. ครั้นนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงสวดประกาศ
ด้วยญัตติทุติยกรรม. ญัตติทุติยธรรม ๕ นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าว
ไว้ในสังคีติขันธกะนั้นแล.
[พระมหาเถระแยกกันเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์]
ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระ ทราบว่า นับแต่วันที่พระตถาคต
ปรินิพพานมา เมื่อวันสาธุกีฬาและวันบูชาพระธาตุล่วงไปได้อย่างละ ๗ วัน
เป็นอันล่วงไปแล้วกึ่งเดือน, บัดนี้ฤดูคิมหันต์ยังเหลืออยู่เดือนครึ่ง ดิถีที่จะเข้า
๑-๒-๓. วิ. จุลฺ. ๗/๓๘๐-๓๘๑. ๔. สํ . นิทาน.๑๖/๒๕๘. ๕.วิ. จุลฺ. ๗/๓๘๑.

28
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 29 (เล่ม 1)

จําพรรษาก็ใกล้เข้ามาแล้ว จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเราไปยังกรุง-
ราชคฤห์กันเถิด แล้วได้พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินไปทางหนึ่ง. พระอนุรุทธเถระ
ก็พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินไปอีกทางหนึ่ง. ท่านพระอานนทเถระถือเอาบาตร
และจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อม มีความประสงค์จะเดิน
ทางผ่านกรุงสาวัตถีไปยังกรุงราชคฤห์ ก็หลีกจาริกไปทางกรุงสาวัตถี.
[พระอานนท์ไปถึงที่ไหนมีเสียงร้องไห้ในที่นั้น]
ในสถานที่ที่พระอานนท์ไปแล้ว ๆ ได้มีการร้องไห้ร่ำไรมากมายว่า
ท่านอานนท์ผู้เจริญ ! ท่านพักพระศาสดาไว้ที่ไหน จึงมาแล้ว ก็เมื่อพระเถระ
ไปถึงกรุงสาวัตถีโดยลําดับ ได้มีการร้องไห้ร่ำไรมากมาย เหมือนในวันที่
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานฉะนั้น.
[ พระอานนท์ปัดกวาดเสนาสนะที่เคยประทับ ]
ได้ทราบว่า ในกรุงสาวัตถีนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปลอบโยนมหาชน
นั้นให้เบาใจด้วยธรรมกาอันปฏิสังยุตด้วยไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้น
แล้วเข้าไปยังพระเชตวัน เปิดประตูพระคันธกุฎีที่พระทศพลเคยประทับ แล้ว
นําเตียงและตั่งออกมาเคาะตีปัดกวาดพระคันธกุฎี เก็บหยากเยื่อดอกไม้ที่
เหี่ยวแห้งทิ้งเสีย แล้วนําเอาเตียงและตั่งกลับเข้าไปตั้งไว้ในที่เดิมอีก ได้ทําวัตร
ทุกอย่างที่ควรทํา เหมือนในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังดํารงอยู่ฉะนั้น.
[พระอานนท์ฉันยาระบาย]
ในกาลนั้น พระเถระ เพราะเป็นผู้มากไปด้วยการยืนและการนั่ง
จําเดิมแต่กาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานมา เพื่อชําระกายที่มีธาตุหนาแน่น
ให้สบาย ในวันที่สอง จึงนั่งฉันยาระบายที่เจือด้วยน้ำนมอยู่ในวิหารนั่นเอง

29
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 30 (เล่ม 1)

ซึ่งท่านหมายถึง จึงได้กล่าวคํานี้กะมานพที่สุภมานพส่งไปว่า มิใช่กาลเสียแล้ว
มานพ ! เผอิญวันนี้เราดื่มยาระบายเสียแล้ว, ถ้ากระไรเอาไว้พรุ่งนี้เถิด เรา
จึงจะเข้าไป* ดังนี้. ในวันรุ่งขึ้นพระเถระ มีพระเจตกเถระเป็นปัจฉาสมณะ
ได้ไป (ยังนิเวศน์ของสุภมานพ) ถูกสุมานพถาม จึงได้แสดงพระสูตรที่ ๑๐
ชื่อสุภสูตร ในทีฆนิกาย. ในกาลนั้นพระเถระสั่งให้นายช่างทําการปฏิสังขรณ์
สถานที่ปรักหักพังในพระเชตวันวิหารแล้ว เมื่อวันวัสสูปนายิกาใกล้เข้ามาได้
ไปยังกรุงราชคฤห์. ถึงพระมหากัสสปเถระและพระอนุรุทธเถระก็พาเอาภิกษุ
สงฆ์ทั้งปวงไปสู่กรุงราชคฤห์เหมือนกัน.
[พระเถระทั้งหลายคิดซ่อมวิหาร๑๘ แห่ง]
ก็โดยสมัยนั้นแล ในกรุงราชคฤห์มีมหาวิหารอยู่ ๑๘ ตําบล มหาวิหาร
เหล่านั้นแม้ทั้งหมดได้รกรุงรังด้วยของที่ถูกทิ้งและตกเกลื่อน. จริงอยู่ พวกภิกษุ
ทั้งหมดพากันถือเอาบาตรและจีวรของตน ๆ ได้ทอดทิ้งวิหารและบริเวณไปใน
สถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน. พระเถระทั้งหลายในวิหารเหล่านั้น
เพื่อที่จะบูชาพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าและเพื่อจะเปลื้องวาทะของพวก
เดียรถีย์เสีย จึงคิดกันว่า ตลอดเดือนแรก พวกเราจะทําการปฏิสังขรณ์ที่ชํารุด
ทรุดโทรม. ก็พวกเดียรถีย์พึงกล่าวว่า เหล่าสาวกของพระสมณโคดม เมื่อ
พระศาสดายังดํารงอยู่เท่านั้น จึงปฏิบัติวิหาร เมื่อปรินิพพานแล้ว ก็พากัน
ทอดทิ้งเสีย. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ก็เพื่อจะเปลื้องวาทะของพวกเดียรถีย์
เหล่านั้น พระเถระทั้งหลายจึงได้คิดกันอย่างนั้น. ข้อนี้สมจริงดังพระธรรม-
* วิ. จุลฺ. ๗ / ๓๘๒.

30