No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 98 (เล่ม 50)

ภัลลิยะ จึงเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วถวาย-
บังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เขาทั้งสอง
ในพ่อค้าทั้งสองนั้น ตปุสสะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้วได้เป็นอุบาสกอย่างเดียว
ส่วนภัลลิยะ บวชแล้วได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าว
ไว้ในอปทานว่า
ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า
สุมนะ ประทับอยู่ในพระนครตักกรา เราได้ถือเอา
ผลไม้ชื่อวัลลิการะ ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน
กัปที่ ๓๐ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น
ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็น
ผลแห่งการถวายผลไม้ เราเผากิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว
ฯ ล ฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
ครั้นในวันหนึ่ง มารแสดงรูปน่ากลัว เพื่อจะหลอกพระภัลลิยเถระ
ให้สะดุ้งกลัว. พระเถระเมื่อจะประกาศข้อที่ตนล่วงความกลัวได้ทั้งหมด จึงได้
ภาษิตคาถานี้ว่า
ผู้ใดกำจัดเสนาแห่งมัจจุราช เหมือนห้วงน้ำใหญ่
กำจัดสะพานไม้อ้อ อันแสนจะทรุดโทรมฉะนั้น และ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้ชนะมาร ปราศจากความหวาดกลัว
มีตนอันฝึกฝนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความ
เร่าร้อนได้แล้ว ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยปานุทิ ความว่า ผู้ใดกำจัด คือ
ซัดไป คือละได้แล้ว ได้แก่ ขจัดแล้ว. บทว่า มจฺจุราชสฺส ความว่า

98
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 99 (เล่ม 50)

ความตาย คือความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า มัจจุ ก็มัจจุนั่นแหละ ชื่อว่า
ราชา เพราะอรรถว่า เป็นใหญ่ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ
ของตน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มัจจุราชา. แห่งมัจจุราชนั้น. บทว่า เสนํ
ได้แก่ เสนา มีความแก่และโรคเป็นต้น ก็ความแก่และโรคเป็นต้น ชื่อว่า
เสนา เพราะเป็นองค์ประกอบในการที่มัจจุราชนั้นยังสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ
ด้วยเหตุนั้น มัจจุราชนั้น ท่านจึงเรียกว่า มีเสนาใหญ่ เพราะมีเสนามาก
มีอย่างต่าง ๆ แพร่หลาย. สมดังที่ตรัสไว้ว่า น หิ โน สงฺครนฺเตน
มหาเสเนน มจฺจุนา จะขอผลัดเพี้ยนกับมัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่ มิได้เลย
ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เทวบุตรมาร ท่านประสงค์เอาว่า มัจจุ ในพระคาถานี้
เพราะอรรถว่า ฆ่าเสียซึ่งคุณงามความดี กามเป็นต้น ท่านประสงค์เอาว่าเป็น
เสนา เพราะเข้าถึงความเป็นสหายกับมัจจุราชนั้น. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่หนึ่งของท่าน
ความไม่ยินดี เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่สองของท่าน
ความหิวและความกระหาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่สาม
ของท่าน ตัณหาเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่สี่ของท่าน
ถีนมิทธะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ห้าของท่าน ความ
ขลาดกลัวเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่หกของท่าน ความ
สงสัยเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่เจ็ดของท่าน ความลบหลู่
และความหัวดื้อ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่แปดของท่าน
ดังนี้.
บาทคาถาว่า นฬเสตุํว สุทุพฺพลํ มโหโฆ นี้ประกอบความว่า
ผู้ใดกำจัดแล้ว คือชนะแล้ว ซึ่งเสนาคือสังกิเลส ที่ชื่อว่า แสนจะทรุดโทรม
เพราะไม่มีกำลังมากมายเหมือนห้วงน้ำใหญ่กำจัดสะพานไม้อ้อ เพราะปราศจาก

99
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 100 (เล่ม 50)

แก่นสาร ด้วยมรรคอันเลิศ เช่นกับห้วงน้ำใหญ่ เพราะโลกุตรธรรมทั้ง ๙
มีกำลังมาก ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้ชนะมาร ปราศจากความกลัว มีตนอันฝึกแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ดับความเร่าร้อนและความกระวนกระวายได้แล้ว ดังนี้. มารสดับ
คำนั้นแล้ว คิดว่า สมณะรู้ทันเรา ดังนี้ แล้วหายไปในที่นั้นเอง.
จบอรรถกถาภัลลิยเถรคาถา
๘. วีรเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระวีรเถระ
[๑๔๕] ได้ยินว่า พระวีรเถระ ได้ภาษิตคาถานี้ ในเวลาภรรยาเก่า
ไปเล้าโลม เพื่อให้สึกว่า
เมื่อก่อน ผู้ใด เป็นผู้อันบุคคลอื่นฝึกได้โดยยาก
แต่เดี๋ยวนี้ ผู้นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงฝึกฝน
ได้ดีแล้ว เป็นนักปราชญ์ มีความสันโดษ ข้ามความ
สงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลสมาร ปราศจากขนลุกพอง
ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความ
เร่าร้อนได้แล้ว.

100
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 101 (เล่ม 50)

อรรถกถาวีรเถรคาถา
คาถาของท่านพระวีรเถระเริ่มต้นว่า โย ทุทฺทมโย ดังนี้. เรื่องราว
ของท่านเป็นมาอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกัปที่ ๙๐ นับถอยหลังแต่ภัตรกัปนี้ ท่านปฏิบัติที่ประทับ
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี. อยู่มาวันหนึ่ง ท่านเก็บดอก
คนทิสอ มีลักษณะคล้ายกับดอกยางทราย มาบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วย
บุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดใน
ตระกูลกษัตริย์ ในกัปที่ ๓๕ ถอยหลังแต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
พระนามว่า มหาปตาปะ. ท้าวเธอเสวยราชย์โดยธรรมสม่ำเสมอ ยังหมู่สัตว์
ให้ตั้งอยู่ในทางสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก ในกาลของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปะ. ในกัปนี้อีก บำเพ็ญทานแก่คน
กำพร้าและคนเดินทางไกลเป็นต้น ได้ถวายขีรภัตรแก่พระสงฆ์ ท่าน บำเพ็ญ
กองการบุญกุศลอันสำเร็จด้วยทาน และสั่งสมประโยชน์ คือ พระนิพพาน
นอกนี้ ในภพนั้น ดังพรรณนามานี้ แล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลอมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิ ในกรุงสาวัตถี ใน
พุทธุบาทกาลนี้ คนทั้งหลายขนานนามท่านว่า วีระ.
ท่านเจริญวัยแล้ว ประกอบด้วยคุณทั้งหลาย มีความสมบูรณ์ด้วยพละ
และชวนะเป็นต้น สมชื่อ เป็นผู้กล้าหาญในสงคราม เมื่อมารดาบิดา จัดหาภรรยา
ให้ โดยการทำความผูกพัน ก็ได้บุตรคนเดียวเท่านั้น อันเหตุแห่งบุรพกรรม
ตักเตือนอยู่เห็นโทษในกามทั้งหลายและในสงสารเกิดความสลดใจ บวชแล้ว

101
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 102 (เล่ม 50)

เพียรพยายามอยู่ ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์
ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เราเป็นคนเฝ้าพระอารามของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระนามว่า วิปัสสี ได้ถือเอาดอกยางทรายไปบูชา
พระพุทธเจ้า ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชา
พระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่-
รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๓๕ แต่
ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง เป็น
จอมประชามีนามว่า มหาปตาปะ มีพละมาก คุณวิเศษ
เหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำ
สำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็ภรรยาเก่า (ของท่าน) ประสงค์จะให้พระเถระ ผู้บรรลุพระอรหัต
อย่างนี้แล้ว ยับยั้งอยู่ด้วยความสุข อันเกิดแต่ผลสมาบัติ ให้สึก พยายาม
ประเล้าประโลม โดยนัยต่าง ๆ ในระหว่าง ๆ วันหนึ่งไปถึงที่ท่านพักในกลางวัน
เริ่มแสดงมายาหญิง มีเล่ห์มายาเป็นต้น. ลำดับนั้น ท่านพระวีระ คิดว่า
หญิงคนนี้ เป็นคนโง่แท้หนอ ประสงค์จะเล้าโลมเรา อุปมาดุจมีความประสงค์
ให้เขาสิเนรุราชสั่นสะเทือน ด้วยลมปีกของลิ่นไรฉะนั้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดง
ความที่กิริยาของหญิงนั้น ไม่มีประโยชน์ จึงได้ภาษิตคาถาว่า
เมื่อก่อน ผู้ใด เป็นผู้อันบุคคลอื่นฝึกได้โดยยาก
แต่เดี๋ยวนี้ ผู้นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงฝึกฝน
ได้ดีแล้ว เป็นนักปราชญ์ มีความสันโดษ ข้ามความ

102
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 103 (เล่ม 50)

สงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลสมาร ปราศจากขนพอง
สยองเกล้า ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ดับ-
กิเลสและควานเร่าร้อนได้แล้ว ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น เนื้อความของบททั้งหลายมีอาทิว่า โย ทุทฺทมโย
ดังนี้ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังแล้วทั้งนั้น. ส่วนคำ (ที่จะกล่าวต่อไป) นี้
เป็นเพียงโยชนา (คำประกอบความ) ในคาถานี้. เมื่อก่อนผู้ใด ชื่อว่าเป็นผู้
อันบุคคลอื่นฝึกได้ยาก เพราะยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ปราบ หรือเพราะอันข้าศึก
ทั้งหลาย ไม่สามารถเพื่อจะปราบ คือ เพื่อจะชนะในสนามรบได้ แต่บัดนี้
ผู้นั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ฝึกพระองค์แล้ว ทรงฝึกแล้วด้วยธรรมเครื่องฝึก
อันสูงสุด ชื่อว่า เป็นนักปราชญ์ เพราะถึงพร้อมด้วยความเพียร คือ สัมมัป-
ปธาน ๔ อย่าง จึงเป็นผู้มีความสันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะ
กิเลสมาร ปราศจากความขนพองสยองเกล้า เป็นปราชญ์ได้นามว่า วีระ ชื่อว่า
ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้ เพราะดับกิเลสได้โดยไม่มีส่วนเหลือ ต่อแต่นั้นไป
ก็เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวด้วยมารเช่นท่านตั้ง ๑๐๐ ตน ๑,๐๐๐ ตน หญิง
นั้นฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า เมื่อพระเถระผู้เป็นสามีของเรา ปฏิบัติได้เช่นนี้
การอยู่ครองเรือนของเราจะมีประโยชน์อะไร ดังนี้ เกิดความสลดใจ บวชใน
สำนักนางภิกษุณีทั้งหลาย เป็นผู้มีวิชชา ๓ ต่อกาลไม่นานเลย.
จบอรรถกถาวีรเถรคาถา

103
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 104 (เล่ม 50)

๙. ปิลินทวัจฉเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระปิลินทวัจฉเถระ
[๑๔๖] ได้ยินว่า พระปิลินทวัจฉเถระ ได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า
การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการ
มาดีแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราคิดไว้ว่า จักฟัง
ธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักบวช
เป็นความคิดที่ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อพระผู้มีพระ
ภาคเจ้า ทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่ เราได้บรรลุ
ธรรมอันประเสริฐแล้ว.
อรรถปิลินทวัจฉเถรคาถา
คาถาของท่านพระปิลินทวัจฉเถระ เริ่มต้นว่า สฺวาคตํ ดังนี้.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเถระนี้ เกิดในตระกูลมีโภคะมาก ณ กรุงหงสาวดี ใน
กาลของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ฟังธรรมในสำนักของ
พระศาสดา โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง นั่นแล เห็นพระบรมศาสดาทรง
แต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ โดยเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเทวดาทั้งหลาย ปรารภนาตำแหน่งอันเลิศนั้น บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไป ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วบังเกิด

104
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 105 (เล่ม 50)

ในมนุษยโลก ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สุเมธะ. เมื่อ
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว กระทำการบูชาพระสถูปของ
พระบรมศาสดา และยังมหาทานให้เป็นไปในหมู่สงฆ์ จุติจากมนุษยโลก
นั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นแหละ เมื่อพระพุทธเจ้า
ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ยังมหาชนให้ดำรงอยู่ในศีล ๕
ได้กระทำให้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
เขา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ของเราทั้งหลาย ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น
นั่นแล บังเกิดในเรือนแห่งพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี. คนทั้งหลายขนาน
นามเขาว่า ปิลินทะ ส่วนคำว่า วัจฉะ เป็นโคตร. ด้วยเหตุนั้น เวลาต่อมา
เขาจึงมีนามปรากฏว่า ปิลินทวัจฉะ ก็เขาบวชเป็นปริพาชก เพราะเป็นผู้
มากไปด้วยความสลดใจในสงสาร สำเร็จวิชชา ชื่อว่า จูฬคันธาระ ท่องเที่ยว
ไปในอากาศได้ด้วยวิชชานั้น ทั้งเป็นผู้รู้จิตของผู้อื่น ถึงความเป็นผู้เลิศด้วย
ลาภ และยศ อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์.
ครั้งนั้น จำเดิมแต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ตรัสรู้
พระสัมมาสัมโพธิญาณ เสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ด้วยพระพุทธานุ-
ภาพ ทำให้วิชชานั้น ของเขาเสื่อมไป (ไม่สมบูรณ์) ไม่สามารถยังกิจของ
ตนให้สำเร็จได้. เขาคิดว่า ก็เราได้ฟังมาดังนี้ว่า เมื่ออาจารย์และปรมาจารย์
ทั้งหลาย กล่าวมนต์นี้อยู่ มหาคันธารวิชชาอยู่ในที่ใด จูฬคันธารวิชชาย่อม
เสื่อม (ไม่สมบูรณ์) ในที่นั้น ดังนี้. ก็นับจำเดิมแต่พระสมณโคดมเสด็จมาแล้ว
วิชชานี้ของเรา ไม่สมบูรณ์เลย พระสมณโคดม ต้องรู้มหาคันธารวิชชา
โดยไม่ต้องสงสัย ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปนั่งใกล้พระสมณโคดมนั้น แล้ว
เรียนวิชชานั้นในสำนักของพระองค์ ดังนี้. เขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ ข้าพระองค์ประสงค์จะเรียนวิชชา

105
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 106 (เล่ม 50)

อย่างหนึ่งในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์จงให้โอกาสแก่ข้าพระองค์ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงบวช. เขาสำคัญว่า บรรพชาเป็นการ
บริกรรมวิชชาจึงยอมบวช. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ท่าน
แล้วทรงประทานกัมมัฏฐานอันเหมาะแก่จริต. ท่านเจริญวิปัสสนาบรรลุ
พระอรหัตแล้ว ต่อกาลไม่นานเลย เพราะความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย.
ก็เทวดาเหล่าใด ผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์
เทวดาเหล่านั้นอาศัยความเป็นผู้รู้คุณนั้น จึงเกิดความนับถืออย่างมาก เข้าไป
หาพระเถระทุกเย็น ทุกเข้าแล้วจึงไป. เพราะเหตุนั้น พระเถระ จึงถึงความ
เป็นผู้เลิศ เพราะความเป็นผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเทวดาทั้งหลาย. สมดัง
คาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เมื่อพระโลกนาถ พระนามว่า สุเมธ เป็น
บุคคลผู้เลิศ นิพพานแล้ว เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสม-
นัส ได้ทำการบูชาพระสถูป. ในสมาคมนั้น พระขี-
ณาสพผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิมากเท่าใด เรานิมนต์
พระขีณาสพเหล่านั้น มาประชุมกันในสมาคมนั้นแล้ว
ได้ทำสังฆภัตถวาย เวลานั้นมีภิกษุผู้อุปัฏฐาน ของพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สุเมธ ท่านมีนามว่า
สุเมธ ได้อนุโมทนาในเวลานั้น ด้วยจิตอันเลื่อมใส
นั้น เราได้เข้าถึงวิมาน นางอัปสร แปดหมื่นหกพัน
ได้มีแก่เรา นางอัปสรเหล่านั้น ย่อมคล้อยตามความ
ประสงค์ทุกอย่างของเราเสมอ เราย่อมครอบงำ
เทวดาเหล่าอื่น นี่เป็นผลแห่งบุญกรรม. ในกัปที่ ๒๕
เราเป็นกษัตริย์ พระนามว่า วรุณ ในกาลนั้น เราได้

106
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ – หน้าที่ 107 (เล่ม 50)

เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เสวยโภชนะอันขาวผ่อง ชน
เหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถไปไถ
มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบริโภคข้าวสาลีอันเกิดเอง สุก
เอง ในที่ไม่ได้ไถ เราได้เสวยราชสมบัติในภพนั้นแล้ว
ได้ถึงความเป็นเทวดาอีก ถึงเวลานั้น โภคสมบัติเช่น
นี้ก็บังเกิดแก่เรา สัตว์ทั้งปวงซึ่งเป็นมิตร หรือมิใช่
มิตร ย่อมไม่เบียดเบียนเรา เราเป็นที่รักของสัตว์ทุก
จำพวก นี้เป็นผลแห่งกรรม เราได้ให้ทานใดในกาล
นั้น ด้วยการให้ทานนั้น เราไม่พบทุคติเลย นี้เป็นผล
แห่งการไล้ทาด้วยของหอม ในภัทรกัปนี้ เราผู้เดียว
ได้เป็นอธิบดีของคน ได้เป็นราชฤาษีผู้มีอานุภาพมาก
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพลมาก เรานั้นตั้งอยู่ใน
ศีล ๕ ได้ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ถึงสุคติ ได้เป็นที่
รักของเทวดาทั้งหลาย คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิ-
ทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้ง
ชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
อนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้อันเทวดาทั้งหลาย รักใคร่สนิทสนมอย่าง
มากยิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตั้งพระเถระนี้ไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุ
ผู้เลิศ โดยความเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเทวดาทั้งหลาย โดยพระพุทธดำรัส
ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระปิลินทวัจฉะ เลิศกว่าภิกษุผู้เป็นมหาสาวกของเรา
ฝ่ายทำให้เทวดาทั้งหลายรักใคร่ ชอบใจ ดังนี้. วันหนึ่ง ท่านนั่งอยู่ในท่ามกลาง
ภิกษุสงฆ์ พิจารณาคุณทั้งหลายของตนแล้ว เมื่อจะสรรเสริญการมาในสำนัก

107