นิทานกถาวรรณนา
ในเถรคาถา และเถรีคาถาเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนตามที่กำหนดไว้แล้ว
อย่างนี้ เถรคาถาเป็นคาถาต้น. แม้ในบรรดาเถรคาถาเหล่านั้น คาถาที่ท่าน
พระอานนท์ กล่าวไว้เพื่อชมเชยพระเถระเหล่านั้น ในคราวทำปฐมสังคายนา
นี้ว่า
ขอท่านทั้งหลายจงฟังคาถา อันน้อมเข้าไปสู่
ประโยชน์ ของพระเถระทั้งหลาย ผู้มีตนอันอบรมแล้ว
บันลืออยู่ ดุจการบันลือแห่งสีหะทั้งหลาย ซึ่งเป็น
สัตว์ประเสริฐว่าเหล่าสัตว์ที่มีเขี้ยวทั้งหลาย ที่ใกล้ถ้ำ
ภูเขา ฉะนั้น ดังนี้ เป็นคาถาแรก.
ศัพท์ว่า สีหะ ในบทว่า สีหานํ ในคาถานั้นมาแล้ว ในความหมายว่า
พญาเนื้อ ดังในประโยคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราชสีห์เป็น พญาเนื้อ. มาใน
ความหมายว่า บัญญัติ ดังในประโยคว่า ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดี เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยที่ซึ่งพระองค์เสด็จประทับอยู่. มาในความหมายว่า
ตถาคต ดังในประโยคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้ เป็นชื่อของ
เราผู้ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ในความหมาย ๓ อย่างนั้น ในความ
หมายว่าตถาคต สีหศัพท์มาแล้วในความหมายว่าคล้ายกัน ฉันใด แม้ในคาถานี้
ก็ฉันนั้น สีหศัพท์พึงทราบว่า มาแล้วด้วยสามารถแห่งความหมายว่าคล้ายกัน.
เพราะฉะนั้น บทว่า สีหานํ ว จึงตัดบทเป็น สีหานํ อิว (แปลว่า ดุจราชสี)
ลบสระเสียด้วยอำนาจสนธิ ดังในประโยคเป็นต้นว่า เอวํ ส เต ดังนี้. บรรดา
บทเหล่านั้น บทว่า อิว เป็นบทนิบาต.