No Favorites




หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 824 (เล่ม 3)

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่
บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่
ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตร อันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงได้เข้าไปหาพ่อเจ้าเรือน ถึง
การกำหนดในจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็น
เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตรว่า ดูก่อนอุปนันทะ ข่าวว่า เธออันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
ได้เข้าไปหาพ่อเจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร จริงหรือ
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูก่อนอุปนันทะ เขาเป็นญาติของเธอ หรือมิใช่ญาติ
อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การ
กระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คนที่มิใช่ญาติย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควร
หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มี ของคนที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น
เธออันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ยังเข้าไปหาพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ
แล้วถึงการกำหนดในจีวรได้ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ

824
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 825 (เล่ม 3)

ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อ
ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่าง
อื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดย
อเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็น
คนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ
คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความ
เป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ
กำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร
โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม
แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท
แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือเพื่อความ
รับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อ-
ยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะ
อันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อ
ถือตามพระวินัย ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
อย่างนี้ ว่าดังนี้:-

825
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 826 (เล่ม 3)

พระบัญญัติ
๒๗. ๘. อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติตระ-
เตรียมทรัพย์ สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวรด้วย
ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นเขา
ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวรในสำนัก
ของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้น หรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์
สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังรูปให้ครองเถิด เป็นนิสสัคติยปาจิตตีย์ ถือ
เอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๓] บทว่า อนึ่ง...เฉพาะภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของ
ภิกษุ คือทำภิกษุให้เป็นอารมณ์แล้วใคร่จะให้ภิกษุครอง
ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี
ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก
ที่ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือน
ที่ชื่อว่า แม่เจ้าเรือน ได้แก่ สตรีผู้ครอบครองเรือน
ที่ชื่อว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมณี แก้ว
มุกดา แก้วลาย แก้วผลึก ผ้า ด้าย หรือฝ้าย.
บทว่า ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ คือ ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้
เฉพาะ.

826
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 827 (เล่ม 3)

บทว่า จ่าย คือ แลกเปลี่ยน.
บทว่า ให้ครอง คือ จักถวาย
คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในสำนักของเขา ได้แก่ ภิกษุที่เขาตระเตรียม
ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ถวายเฉพาะ.
บทว่า เขาไม่ได้ปวารณาก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้
ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักจ่ายจีวรเช่นไร
ถวายท่าน.
บทว่า เข้าไปหาแล้ว คือ ไปถึงเรือนแล้ว เข้าไปหาในที่แห่งใด
แห่งหนึ่ง.
บทว่า ถึงการกำหนดในจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้ยาว ขอให้
กว้าง ขอให้เนื้อแน่น หรือขอให้เนื้อละเอียด.
บทว่า ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ คือ ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้
เฉพาะ.
บทว่า เช่นนั้นหรือเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อ
ละเอียด.
บทว่า จ่าย คือ แลกเปลี่ยน.
บทว่า ยังรูปให้ครองเถิด คือ จงให้.
บทว่า ถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี คือ มีความประสงค์ผ้าที่ดี
ต้องการผ้าที่มีราคาแพง
เขาจ่ายจีวรยาวก็ดี กว้างก็ดี เนื้อแน่นก็ดี เนื้อละเอียดก็ดี ตาม
คำของเธอ เป็นทุกกฏในประโยคที่เขาจ่าย เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้จีวรมา
ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้น อย่างนี้:-

827
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 828 (เล่ม 3)

วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุ
ผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของ
จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ
พึงคนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้
เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์
ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า
กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของ
จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ
พึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็น

828
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 829 (เล่ม 3)

ของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของ
ท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ .
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่ง
กระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้า
เข้าไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ
ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ
พึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคติยปาจิตตีย์
[๖๔] เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวรเป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไป
หาเจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้
ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

829
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 830 (เล่ม 3)

ทุกกฏ
เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ...ต้องอาบัติทุกกฏ
เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ต้องอาบัติ
เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ...ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๖๕] ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้
ปวารณาไว้ ๑ ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วย
ทรัพย์ของตน ๑ เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวร
มีราคาถูก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ
จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘
พรรณนาปฐมอุปักขฏสิกขาบท
อุปักขฏสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป:-
ในอุปักขฏสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-
[แก้อรรถมูลเหตุปฐมบัญญัติ]
ในคำว่า อตฺถาวุโส มํ โส อุฏฺฐาโก นี้ มีความอย่างนี้ว่า ท่าน
ผู้มีอายุ ! บุรุษที่ท่านพูดถึง เห็นปานนี้นั้น เป็นอุปัฏฐากของผม มีอยู่.

830
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 831 (เล่ม 3)

คำว่า อปิมยฺยา เอวํ โหติ มีความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า !
ความจริง ผมตั้งใจไว้อย่างนั้น. ปาฐะว่า อปิ เมยฺยา เอวํ โหติ แปลว่า
ข้าแด่พระคุณเจ้า ! ถึงผมก็มีความคิดอย่างนี้ ดังนี้ ก็มี.
บทว่า อุทฺทิสฺส ที่มีอยู่ในคำว่า ภิกฺขุํ ปเนว อุทฺทิสฺส นี้ มี
อรรถว่า อ้างถึง คือ ปรารภถึง. ก็เพราะทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรที่พ่อ
เจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ตระเตรียมไว้เฉพาะภิกษุใด จัดว่าเป็นอัน
เขาตระเตรียมแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุนั้น; ฉะนั้น ในบทภาชนะแห่ง
บทว่า ภิกฺขุํ ปเนว อุทฺทสฺส นั้น ท่านพระอุบาลี จึงกล่าวว่า เพื่อ
ประโยชน์แก่ภิกษุ.
[แก้อรรถสิกขาบทวิภังค์ว่าด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร]
คำว่า ภิกฺขุํ อารมฺมณํ กริตฺวา ได้แก่ กระทำภิกษุให้เป็นปัจจัย.
จริงอยู่ ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรที่พ่อเจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือนตระ-
เตรียมไว้เฉพาะภิกษุใด ย่อมชื่อว่าเป็นอันเขาทำภิกษุนั้นให้เป็นปัจจัย
ตระเตรียมไว้โดยแน่นอนทีเดียว. เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ทำภิกษุให้
เป็นอารมณ์. ความจริง แม้ปัจจัย ก็มาแล้วโดยชื่อว่า อารมณ์ ในคำว่า
ลภติ มาโร อารมฺมณํ แปลว่า มารย่อมได้ปัจจัย ดังนี้เป็นต้น .
บัดนี้ เพื่อแสดงอาการของกัตตา (ผู้ทำ) ในบทว่า อุทฺทิสฺส นี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ประสงค์จะให้ภิกษุครอง. จริงอยู่ คฤหบดี
ผู้ประสงค์จะให้ภิกษุครองนั้น ตระเตรียมไว้เฉพาะภิกษุนั้น, มิใช่ (ตระ-
เตรียม) เพราะเหตุอื่น. เพราะเหตุนี้ คฤหบดีนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ประสงค์

831
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 832 (เล่ม 3)

จะให้ครอง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสคำว่า ผู้ประสงค์
จะให้ภิกษุครอง.
สองบทว่า อญฺญาตกสฺส คหปติสฺส วา มีอรรถว่า อันคฤหบดี
ผู้มิใช่ญาติ ก็ดี. แท้จริง คำนี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งตติยา-
วิภัตติ. แต่ในบทภาชนะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะไม่วิจารณ์พยัญชนะ
แสดงแต่อรรถอย่างเดียว จึงตรัสคำมีอาทิว่า อญฺญาตโก นาม ฯ เป ฯ
คหปติ นาม ดังนี้.
บทว่า จีวรเจตาปนํ แปลว่า มูลค่าแห่งจีวรม, ก็เพราะมูลค่าแห่ง
จีวรนั้น ย่อมเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในบรรดาทรัพย์มีเงินเป็นต้น; ฉะนั้น
ในบทภาชนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า หิรญฺญํ วา เป็นต้น.
สองบทว่า อุปกฺขฏํ โหติ ได้แก่ เป็นทรัพย์ที่เขาตระเตรียมไว้ คือ
รวบรวมไว้แล้ว. ก็เพราะด้วยคำว่า หิรญฺญํ วา เป็นต้นนี้ ย่อมเป็นอัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่มูลค่าจีวรนั้น เป็นของอันคฤหบดีนั้น
ตระเตรียมไว้แล้ว; ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่ทรงยกบทว่า
อุปกฺขฏํ นาม ขึ้นแล้วตรัสบทภาชนะแยกไว้ต่างหาก. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงหมายถึงทรัพย์ ที่เขาตระเตรียมไว้ จึงตรัสว่า อิมินา เป็นต้น.
เพราะเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า อิมินา นั้น จึงตรัสว่า ปจฺจุ-
ปฏฺฐิเตน แปลว่า ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดไว้เฉพาะ. จริงอยู่ มูลค่าแห่งจีวร
ที่คฤหบดี ตระเตรียมไว้ คือรวบรวมไว้แล้ว ชื่อว่า เป็นทรัพย์ที่เขาจัด
หาไว้เฉพาะ ฉะนี้แล.
คำว่า อจฺฉาเทสฺสามิ นี้ เป็นคำสำนวน. แต่ความหมาย ในคำว่า
อจฺฉาเทสฺสามิ นี้ ดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจักถวายแก่ภิกษุ ผู้มีชื่อนี้. เพราะ-

832
หมวด/เล่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ 833 (เล่ม 3)

เหตุนั้นนั่นแล แม้ในบทภาชนะแห่งบทว่า อจฺฉาเทสฺสามิ นั้น พระองค์
จึงตรัสว่า ทสฺสามิ แปลว่า เราจักถวาย.
ในคำว่า ตตฺร เจ โส ภิกฺขุ นี้ มีการเชื่อมบทอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุ
นั้น เขามิได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร ใน
สำนักของเจ้าพ่อเรือน หรือแม่เจ้าเรือนนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น เมื่ออรรถแห่งบทว่า อุปสงฺกมิตฺวา แปลว่า
เข้าไปหาแล้ว นี้สำเร็จด้วยบทว่า คนฺตฺวา แปลว่า ไปแล้ว นี้แล พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สู่เรือน ดังนี้ ด้วยอำนาจโวหารข้างมาก. เนื้อ
ความในบทว่า คนฺตฺวา นี้ อย่างนี้ว่า ก็ทายกนั้นอยู่ ณ ที่ใด ไปแล้ว
ณ ที่นั้น. เพราะฉะนั้น จึงตรัสซ้ำอีกว่า เข้าไปหาแล้ว ณ ที่แห่งใด
แห่งหนึ่ง.
สองบทว่า วิกปฺปํ อาปชฺเชยฺย มีความว่า พึงถึงความกำหนด
พิเศษยิ่ง คือ การจัดแจงอย่างยิ่ง. แต่ในบทภาชนะ เพื่อแสดงเหตุเป็น
เครื่องให้ถึงความกำหนดเท่านั้น จึงตรัสว่า อายตํ วา เป็นต้น.
ศัพท์ว่า สาธุ เป็นนิบาตลงในความอ้อนวอน.
ศัพท์ว่า วต เป็นนิบาตเป็นไปในความรำพึง.
ภิกษุย่อมอ้างตนเอง ด้วยบทว่า มํ (ยังรูป).
ย่อมร้อง คือ ย่อมเรียก ผู้อื่นว่า อายสฺมา (ท่าน).
ก็คำทั้งหมดนี้ เป็นเพียงสักว่าพยัญชนะ มีอรรถตื้นทั้งนั้น; เพราะ-
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่ตรัสอธิบายไว้ในบทภาชนะแห่งบทว่า
สาธุ เป็นต้นนั้น.
สองบทว่า กลฺยาณกมฺยตํ อุปาทาย มีความว่า ถือเอาความเป็น

833