No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 263 (เล่ม 36)

๒. สติปัฏฐานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้บรรลุอริยผลในปัจจุบัน
[๑๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อม
เจริญทำให้มากซึ่งธรรม ๕ ประการ เธอพึงหวังได้ผล ๒ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง คืออรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีความยึดถือเหลืออยู่ ก็เป็น
พระอนาคามี ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มี
สติอันเข้าไปตั้งไว้ด้วยดีเฉพาะตน เพื่อปัญญาอันให้หยั่งถึงความตั้งขึ้นและดับ
ไปแห่งธรรมทั้งหลาย ๑ ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย ๑ มีความสำคัญ
ว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑ มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑
พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือ
ภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมเจริญทำให้มากซึ่งธรรม ๕ ประการนี้แล เธอพึง
หวังได้ผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อ
ยังมีความยึดถือเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี.
จบสติปัฏฐานสูตรที่ ๒

263
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 264 (เล่ม 36)

๓. ปฐมอุปัฏฐากสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุไข้ที่ทำให้พยาบาลและง่าย
[๑๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นผู้พยาบาลยาก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุไข้ย่อมไม่ทำ
ความสบาย ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งสบาย ๑ ไม่ฉันยา ๑ ไม่บอกอาพาธที่
มีอยู่ตามความเป็นจริง แก่ผู้พยาบาลที่ปรารถนาประโยชน์ เช่นไม่บอกอาพาธ
ที่กำเริบว่ากำเริบ ไม่บอกอาพาธที่ทุเลาว่าทุเลา ไม่บอกอาพาธที่ทรงอยู่ว่า
ยังทรงอยู่ ๑ ไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดมีในร่างกายอันกล้าแข็ง เผ็ดร้อน
ไม่เป็นที่พอใจสามารถปลิดชีพให้ดับสูญ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้
ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้พยาบาลยาก.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม
เป็นผู้พยาบาลง่าย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุไข้ย่อมทำความ
สบาย ๑ รู้จักประมาณในสิ่งสบาย ๑ ฉันยา ๑ บอกอาพาธตามความเป็นจริงแก่
ผู้พยาบาลที่ปรารถนาประโยชน์ เช่นบอกอาพาธที่กำเริบว่ากำเริบ บอกอาพาธ
ที่ทุเลาว่าทุเลา บอกอาพาธที่ทรงอยู่ว่ายังทรงอยู่ ๑ เป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนา
ที่เกิดมีในร่างกายอันกล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่พอใจ สามารถปลิดชีพให้
ดับสูญ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้พยาบาลง่าย.
จบปฐมอุปัฏฐานสูตรที่ ๓

264
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 265 (เล่ม 36)

๔. ทุติยอุปัฏฐากสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรและไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
[๑๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วย
ธรรม ๕ ประการ ไม่ควรเป็นผู้พยาบาลภิกษุไข้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ ภิกษุผู้พยาบาลเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจัดยา ๑ ไม่ทราบสิ่งสบายและไม่สบาย
นำสิ่งไม่สบายเข้าไปให้ นำสิ่งสบายออกไป ๑ เป็นผู้เพ่งอามิสพยาบาล
ไม่เป็นผู้มีเมตตาจิตพยาบาล ๑ เป็นผู้มักรังเกียจเพื่อนำออกซึ่งอุจจาระ ปัสสาวะ
อาเจียน หรือน้ำลาย ๑ ไม่สามารถจะชี้แจงภิกษุไข้ให้สมาทาน ให้อาจหาญ
ให้ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาโดยกาลอันสมควร ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรเป็นผู้พยาบาล
ภิกษุไข้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕
ประการ ควรเป็นผู้พยาบาลภิกษุไข้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ
ผู้พยาบาลย่อมเป็นผู้สามารถเพื่อจัดยา ๑ ทราบสิ่งสบายและไม่สบาย นำสิ่ง
ไม่สบายออกไป นำสิ่งสบายเข้ามาให้ ๑ เป็นผู้มีเมตตาจิตพยาบาล ไม่เป็น
ผู้เพ่งอามิสพยาบาล ๑ ไม่รังเกียจเพื่อนำออกซึ่งอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน
หรือน้ำลาย ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อชี้แจงภิกษุไข้ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง
ด้วยธรรมมีกถาโดยกาลอันสมควร ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาล
ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรเป็นผู้พยาบาลภิกษุไข้.
จบทุติยอุปัฏฐากสูตรที่ ๔

265
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 266 (เล่ม 36)

คิลานวรรควรรณนาที่ ๓
อรรถกถาทุติยอุปัฏฐากสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอุปัฏฐากสูตรที่ ๔ แห่งวรรค ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า น ปฏิพโล ได้แก่ ไม่ประกอบด้วยกำลังกายและกำลังญาณ.
บทว่า อามิสนฺตโร ได้แก่ เป็นผู้เห็นแก่อามิส คือหวังปัจจัยมีจีวรเป็นต้น.
จบอรรถกถาทุติยอุปัฏฐากสูตรที่ ๔
๕. ปฐมอนายุสสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น และอายุยืน
[๑๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้น
๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จัก
ประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่
สมควร ๑ ไม่ประพฤติประเสริฐ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕
ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน ๕
ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ รู้จัก
ประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๑ เป็นผู้เที่ยวในกาล
สมควร ๑ เป็นผู้ประพฤติประเสริฐ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม
๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน.
จบปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕

266
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 267 (เล่ม 36)

อรรถกถาปฐมอนายุสสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อนายุสฺสา ได้แก่ เข้าไปตัดอายุ คือไม่ทำให้อายุยืน.
จบอรรถกถาปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕
๖. ทุติยอนายุสสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น และอายุยืน
[๑๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุ
สั้น ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง ๑
ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นคนทุศีล ๑
มีมิตรเลวทราม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุ
ให้อายุสั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน ๕
ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ รู้จัก
ประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ มีมิตร
ดีงาม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน.
จบทุติยอนายุสสสูตรที่ ๖
แม้ในทุติยอนายุสสสูตรที่ ๖ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

267
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 268 (เล่ม 36)

๗. อวัปปกาสสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรและไม่ควรอยู่ผู้เดียว
[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วย
บิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษ
ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้มากด้วยความดำริในกาม ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่ควร
เพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมควร
เพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยบิณฑบาต
ตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ ย่อมเป็นผู้มากด้วยความดำริในการออกจาก
กาม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว.
จบอวัปปกาสสูตรที่ ๗

268
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 269 (เล่ม 36)

อรรถกถาอวัปปกาสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอวัปปกาสสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า นาลํ สํฆมฺหาวปกาสิตุํ ความว่า ไม่ควรหลีกออกไป
จากหมู่อยู่ผู้เดียว แต่ที่จริง เธอก็ไม่ควรอยู่แม้ในท่ามกลางหมู่เหมือนกัน
ถึงกระนั้นก็ไม่ควรหลีกออกจากหมู่โดยตรง เพราะไม่เป็นการทำหมู่ให้งาม
เพราะเนื่องด้วยโอวาทานุสาสนี. บทว่า อลํ สํฆมฺหาวปกาสิตุํ ความว่า
จะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียวเท่านั้น โดยอยู่ในทิศทั้ง ๔ ก็ควร และจะอยู่
แม้ในหมู่ ก็ควรเหมือนกัน เพราะทำหมู่ให้งาม.
จบอรรถกถาอวัปปกาสสูตรที่ ๗
๘. สมณทุกขสูตร*
ว่าด้วยทุกข์และสุขของสมณะ ๕ ประการ
[๑๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของสมณะมี ๕ ประการ ๕
ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมี
ตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะ
ตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ ไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของสมณะ ๕ ประการนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขของสมณะ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้สันโดษ
ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑
เป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ ยินดีประพฤติพรหม-
จรรย์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขของสมณะ ๕ ประการนี้แล.
จบสมณทุกขสูตรที่ ๘
* สูตรที่ ๘ อรรถกถาว่ามีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

269
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 270 (เล่ม 36)

๙. ปริกุปปสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ต้องไปอบายแก้ไขไม่ได้ ๕ จำพวก
[๑๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ เป็นผู้ต้องไป
อบาย ต้องไปนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคล
ผู้ฆ่ามารดา ๑ ผู้ฆ่าบิดา ๑ ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ผู้มีจิตประทุษร้ายทำ
โลหิตของพระตถาคตให้ข้อ ๑ ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล เป็นผู้ต้องไปอบาย ต้องไปนรก เดือดร้อน
แก้ไขไม่ได้.
จบปริกุปปสูตรที่ ๙
อรรถกถาปริกุปปสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปริกุปปสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อาปายิกา ได้แก่ เป็นคนต้องไปอบาย. บทว่า เนรยิกา
ได้แก่ ต้องไปนรก. บทว่า ปริกุปฺปา ได้แก่ มีสภาวะกำเริบร้าย เหมือน
แผลเก่า. บทว่า อเตกิจฺฉา ได้แก่ ใคร ๆ จะทำให้กลับคืนไม่ได้.
จบอรรถกถาปริกุปปสูตรที่ ๙

270
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 271 (เล่ม 36)

๑๐. สัมปทาสูตร*
ว่าด้วยความเสื่อม ๕ และสมบัติ ๕
[๑๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อม ๕ ประการนี้ ๕ ประการ
เป็นไฉน คือ ความเสื่อมญาติ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคะ ๑ ความเสื่อม
เพราะโรค ๑ ความเสื่อมศีล ๑ ความเสื่อมทิฏฐิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะเหตุแห่งความเสื่อมญาติ เพราะเหตุแห่งความเสื่อมโภคะ หรือเพราะ
เหตุแห่งความเสื่อมเพราะโรค (แต่ว่า) สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อม
เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมศีล หรือเพราะ
เหตุแห่งความเสื่อมทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อม ๕ ประการนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
สมบัติ คือญาติ ๑ สมบัติคือโภคะ ๑ สมบัติคือความไม่มีโรค ๑ สมบัติคือ
ศีล ๑ สมบัติคือทิฏฐิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว
ย่อมไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติคือญาติ เพราะเหตุแห่ง
สมบัติคือโภคะ หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติคือความไม่มีโรค (แต่ว่า) สัตว์
ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติคือ
ศีล หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติคือทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการ
นี้แล.
จบสัมปทาสูตรที่ ๑๐
จบคิลานวรรคที่ ๓
* อรรถกถาว่า มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

271
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ 272 (เล่ม 36)

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คิลานสูตร ๒. สติปัฏฐานสูตร ๓. ปฐมอุปัฏฐากสูตร
๔. ทุติยอุปัฏฐากสูตร ๕. ปฐมอนายุสสสูตร ๖. ทุติยอนายุสสสูตร
๗. อวัปปกาสสูตร ๘. สมณทุกขสูตร ๙. ปริกุปปสูตร ๑๐. สัมปทาสูตร
และอรรถกถา.

272