No Favorites




หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 187 (เล่ม 35)

บทว่า กทริยา ได้แก่ ตระหนี่เหนียวแน่น. บทว่า ชานิปตโย
แปลว่า ภริยาสามี. บทว่า วทญฺญู ได้แก่ รู้อยู่ซึ่งความหมายคำของยาจก.
บทว่า สญฺญตา ได้แก่ประกอบด้วยความสำรวมในศีล. บทว่า ธมฺมชีวิโน
ได้แก่ ชื่อว่าธรรมชีวี เพราะตั้งอยู่ในธรรมเลี้ยงชีพ. บทว่า อตฺถา สมฺปจุรา
โหนฺติ ความว่า พวกคนเหล่านั้น ย่อมได้ประโยชน์กล่าวคือความเจริญเป็น
อันมาก. บทว่า ผาสุกํ อุปชายติ ความว่า เกิดอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก
บทว่า กามกามิโน ได้แก่ ผู้ยังมีความใคร่ในกามอยู่.
จบอรรถกถาปฐมสังวาสสูตรที่ ๓
๔. ทุติยสังวาสสูตร
ว่าด้วยความอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยา ๔
[๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังวาส ๔ ประเภทนี้ สังวาส ๔ ประเภท
คืออะไรบ้าง คือ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ชาย
เทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา
ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร ? สามีเป็นผู้ทำปาณาติบาต
อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร พูดมุสา พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดสำราก
มีความเห็นแก่ได้ มีใจพยาบาท มีความเห็นผิด เป็นคนทุศีลมีธรรมลามก
มีใจกลุ้มไปด้วยมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มักด่าว่าสมณพราหมณ์
ทั้งหลาย ภริยาเล่าก็เป็นเช่นเดียวกัน อย่างนี้ ชายผู้อยู่ร่วมกับหญิงผี.
ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร ? สามีเป็นผู้ทำปาณาติบาต
ฯลฯ มีความเห็นผิด เป็นคนทุศีล ฯลฯ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

187
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 188 (เล่ม 35)

ฝ่ายภริยาเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจาก
พูดมุสา พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดสำราก ไม่มีความเห็นแก่ได้ ไม่มี
ใจพยาบาท มีความเห็นชอบ เป็นหญิงมีศีลมีธรรมงาม มีใจปราศจากมลทิน
คือความตระหนี่อยู่ครองเรือน ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ ชายผี
อยู่ร่วมกับหญิงเทวดา.
ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร ? สามีเป็นผู้เว้นจากปาณา
ติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ เป็นคนมีศีล ฯลฯ ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์
ทั้งหลาย ฝ่ายภริยาเป็นคนทำปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นผิด เป็นคน
ทุศีล ฯลฯ คำว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับ
หญิงผี.
ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร สามีเป็นผู้เว้นจาก
ปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์
ทั้งหลาย แม้ภริยาก็เช่นเดียวกัน อย่างนี้ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา.
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล สังวาส ๔ ประเภท.
จบทุติยสังวาสสูตรที่ ๔
อรรถกถาทุติยสังวาสสูตร
ทุติยสังวาสสูตรที่ ๔ ตรัสกำหนดเทศนาด้วยสามารถกรรมบถ. บทที่
เหลือก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน . ก็ในพระสูตรแม้ทั้งสองเหล่านี้ ตรัสข้อปฏิบัติ
สำหรับผู้อยู่ครองเรือน ทั้งควรแม้แก่คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี
ด้วย.
จบอรรถกถาทุติยสังวาสสูตรที่ ๔

188
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 189 (เล่ม 35)

๕. ปฐมสมชีวิตสูตร
ว่าด้วยคฤหบดีและคฤหปตานีทูลเรื่องความประพฤติ
[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ป่าเภสกฬา
มฤคทายวัน เมืองสุงสุมารคีระ ในภัคคชนบท ครั้งนั้น เวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองสบงแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จพระพุทธ-
ดำเนินไปนิเวศน์ของคฤหบดีนกุลบิดา ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย
คฤหบดีนกุลบิดาและคฤหปตานีนกุลมารดา เข้าเฝ้า ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้วคฤหบดีนกุลบิดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้กับนนกุลมารดาตั้งแต่เป็นหนุ่มเป็นสาวด้วย
กันมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้สึกว่าได้ประพฤตินอกใจนกุลมารดาแม้แต่นึกคิด
ไม่ต้องกล่าวถึงกระทำ ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ ปรารถนาจะได้พบกันทั้งในชาตินี้
และชาติหน้า แม้คฤหปตานีนกุลมารดาก็กราบทูลความอย่างเดียวกัน
พ. ตรัสสั่งสอนว่า ท่านคฤหบดีและท่านคฤหปตานี ถ้าภริยาสามีหวัง
ที่จะได้พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้าไซร้ ทั้งคู่พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน
มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกันเถิด ก็จะได้พบกัน
ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า.
(นิคมคาถาเหมือนสูตรก่อนตอนท้ายที่ขึ้นต้นว่า อุโภ สทฺธา วทญฺญู
จ ฯเปฯ โมทนฺติ กามกามิโน๑).
จบปฐมสมชีวิสูตรที่ ๕
โปรดดูคาถาที่ ๔ ในปฐมสังวาสสูตรที่ ๓ หน้า ๑๘๕ - ๑๘๖ (ทั้งคู่เป็นผู้มีศรัทธา ฯลฯ
ย่อมยินดีบันเทิงใจในเทวโลก)

189
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 190 (เล่ม 35)

อรรถกถาปฐมสมชีวิสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสมชีวิตสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จ
เข้าไปหาเพื่ออะไร ? ตอบว่า เพื่อทรงอนุเคราะห์. แท้จริง พระตถาคต
เมื่อเสด็จไปแว่นแคว้นนั้น ย่อมเสด็จไปเพื่อทรงสงเคราะห์คนทั้งสองนี้เท่านั้น.
ได้ยินว่า นกุลบิดา ได้เป็นบิดาของพระตถาคตมาแล้ว ๕๐๐ ชาติ เป็นปู่
๕๐๐ ชาติ เป็นอา ๕๐๐ ชาติ. แม้นกุลมารดา ก็ได้เป็นมารดามา ๕๐๐ ชาติ
เป็นย่า ๕๐๐ ชาติ เป็นน้า ๕๐๐ ชาติ คนเหล่านั้นได้ความรักเพียงดังบุตร
จำเดิมแต่เวลาตนเห็นพระศาสดา จึงเข้าไปหาแล้วเกิดเป็นโสดาบันด้วยปฐม-
ทัสนะ (การเห็นครั้งแรก) เหมือนแม่โคเห็นลูกโคแล้วติดในลูกโค ร้องอยู่ว่า
หนฺตาต หนฺตาต ดังนี้. ในนิเวศน์เขาจึงได้จัดอาสนะไว้ถวาย แก่ภิกษุ
๕๐๐ รูปเป็นประจำ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่ออนุเคราะห์
คนเหล่านั้นด้วยประการฉะนี้. บทว่า อติจริตา ได้แก่ พระพฤตินอกใจ.
บทว่า อภิสมฺปรายญฺจ ได้แก่ และในโลกหน้า. บทว่า สมสทฺธา ได้แก่
เป็นผู้เสมอ เป็นเช่นเดียวกันด้วยศรัทธา. แม้ในศีลเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
จบอรรถกถาปฐมสมชีวิสูตรที่ ๕

190
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 191 (เล่ม 35)

๖. ทุติยสมชีวิสูตร
ว่าด้วยภริยา-สามี-หวังพบกัน
[๕๖] สูตรนี้ตรัสแก่ภิกษุ ความเหมือนสูตรก่อน ตอนที่ตรัสสอนว่า
ถ้าภริยาสามีหวังที่จะได้พบกัน ฯลฯ นิคมคาถาก็เหมือนกัน
จบทุติยสมชีวิสูตรที่ ๖
ทุติยสมชีวิสูตรที่ ๖ ทรงแสดงแก่พวกภิกษุอย่างเดียว. บทที่เหลือ
ในบททั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น.
๗. สุปปวาสสูตร
ว่าด้วยนางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า
[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวโกลิยะ
ชื่อปัชชเนลนิคม ในโกลิยชนบท ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงครองสบงแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปนิเวศน์
ของนางสุปปวาสา ธิดาของเจ้าโกลิยะ ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย
นางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า บริบูรณ์พอเพียงด้วยขาทนียโภชนี-
ยาหารด้วยตนเอง ครั้นพระองค์เสวยเสร็จ นำพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นั่ง
เฝ้าอยู่ในที่สมควรส่วนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนสุปปวาสา อริยสาวิกา
เมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน ๙ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ให้สถาน
๔ คืออะไรบ้าง คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ ครั้นให้อายุ
แล้วย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ ) อายุอันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง
ครั้นให้วรรณะ...สุขะ...พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ) วรรณะ...
สุขะ...พละ อันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง ดูก่อนสุปปวาสา อริย-
สาวิกาเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน ๔ นี้ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย.

191
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 192 (เล่ม 35)

บุคคลให้โภชนาหารอันปรุงแต่ง
แล้วอันสะอาด ประณีต มีรส (แก่ปฏิ-
คาหก) ทักษิณาทานนั้นที่บุคคลให้ในท่าน
ผู้ดำเนินตรง ผู้ประกอบด้วยจรณะ ผู้ถึง
ความเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง-
สรรเสริญว่าเป็นทักษิณาที่รวบรวมบุญด้วย
บุญ มีผลมาก.
บุคคลเหล่าใด ระลึกถึงทักษิณาทาน
เช่นนั้น เกิดความยินดี ขจัดเสียซึ่งมลทิน
คือควานตระหนี่ พร้อมทั้งมูลราก ในโลก
ย่อมเป็นผู้ไม่ต้องตำหนิ ย่อมเข้าถึงฐานะ
อันเป็นสวรรค์.
จบสุปปวาสสูตรที่ ๗
อรรถกถาสุปปวาสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสุปปวาสสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
คำว่า ปัชชเนละ เป็นชื่อนิคมของใคร. บทว่า โกลิยานํ ได้แก่
ของโกลราชตระกูล. บทว่า อายุํ โข ปน ทตฺวา ได้แก่ ครั้นให้อายุ-
ทานแล้ว. บทว่า อายุสฺส ภาคินี โหติ ได้แก่ เป็นหญิงได้ลาภคืออายุ
หรือเป็นผู้เกิดมีอายุ อธิบายว่า เป็นผู้ได้อายุ. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้
เหมือนกัน .

192
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 193 (เล่ม 35)

บทว่า รสสา อุเปตํ ได้แก่ โภชนาหารประกอบด้วยรส คือ
ถึงพร้อมด้วยรส. บทว่า อุชุคเตสุ ความว่า ในพระขีณาสพผู้ดำเนินตรง
เพราะเว้นคดกายเป็นต้นแล้ว. บทว่า จรณูปปนฺเนสุ ความว่า ผู้ประกอบด้วย
จรณธรรม ๑๕. บทว่า มหคฺคเตสุ คือผู้ถึงภูมิธรรมสูง. บทนั้นเป็นชื่อ
ของพระขีณาสพ. บทว่า ปุญฺเญน ปุญฺญํ สํสนฺทมานา แปลว่า การสืบต่อ
บุญด้วยบุญ. บทว่า มหปฺผลา โลกวิทูน วณฺณิตา ความว่า ทักษิณา
กล่าวคือทานเห็นปานนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงรู้แจ้งโลก ตรัสยกย่องแล้ว
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว เพราะทรงทำโลก ๓ อย่าง
ให้แจ้งแล้ว. บทว่า ยญฺญมนุสฺสรนฺตา ได้แก่ ระลึกถึงยัญคือทาน. บทว่า
เวทชาตา แปลว่า เกิดความยินดีแล้ว.
จบอรรถกถาสุปปวาสสูตรที่ ๗
๘. สุทัตตสูตร
ว่าด้วยฐานะ ๔ ประการ
[๕๘] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรม
เทศนานี้ว่า คฤหบดี อริยสาวกเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน ๔
ประการ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ให้สถาน ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ ให้อายุ
ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ ครั้นให้อายุแล้วย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ )
อายุอันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง ครั้นให้วรรณะ สุขะ และพละแล้ว

193
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 194 (เล่ม 35)

ย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ) วรรณะ สุขะ และพละ อันเป็นของทิพย์บ้าง
ของมนุษย์บ้าง ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่า
ให้สถาน ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย
บุคคลใดให้โภชนาหาร แก่ปฏิคาหก
ผู้มีศีล ผู้บริโภคของที่คนอื่นให้ โดย
เคารพตามกาลอันควร บุคคลนั้นชื่อว่าให้
สถาน ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ
พละ นรชนผู้ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ
ให้พละ เกิดในภพใด ๆ ย่อมเป็นผู้อายุยืน
มียศ ในภพนั้น ๆ.
จบสุทัตตสูตรที่ ๘
อรรถกถาสุทัตตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสุทัตตสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สญฺญตานํ ได้แก่ ปฏิคคาหกผู้สำรวมทางกายและวาจา.
บทว่า ปรทตฺตโภชินํ ความว่า ผู้บริโภคของที่บุคคลอื่นให้แล้ว จึงยัง
อัตภาพให้เป็นไปอยู่. บทว่า กาเลน ได้แก่ ตามกาลอันควร. บทว่า
สกฺกจฺจ ททาติ ความว่า ทำสักการะแล้วให้ด้วยมือของตน. บทว่า
จตฺตาริ ฐานานิ อนุปฺปเวจฺฉติ ความว่า ย่อมหลั่ง คือให้อยู่ซึ่งเหตุ ๔.
บทว่า ยสวา โหติ ได้แก่ มีบริวารมาก.
จบอรรถกถาสุทัตตสูตรที่ ๘

194
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 195 (เล่ม 35)

๙. โภชนสูตร
ว่าด้วยฐานะ ๔ ประการอีก
[๕๙] สูตรนี้เหมือนสูตรก่อนทุกอย่าง ต่างแต่สูตรนี้ตรัสแก่ภิกษุ
และเปลี่ยนคำว่า "อริยสาวก" เป็น "ทายก" เท่านั้น.
จบโภชนสูตรที่ ๙
โภชนสูตรที่ ๙ ตรัสแก่พวกภิกษุอย่างเดียว. บทที่เหลือในพระสูตรนี้
ก็เป็นเช่นนั้น.
๑๐. คิหิสามิจิสูตร
ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ
[๖๐] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้า ฯลฯ ตรัสพระธรรม
เทศนาว่า คฤหบดี อริยสาวกประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้
ปฏิบัติปฏิปทาสมควรแก่คฤหัสถ์ อันเป็นทางให้ได้ยศ เป็นทางสวรรค์ ธรรม
๔ ประการคืออะไร คือ อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร
. . . ด้วยบิณฑบาต . . . ด้วยเสนาสนะ. . . ด้วยคิลานปัจจัย ดูก่อนคฤหบดี
อริยสาวกประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาสมควรแก่
คฤหัสถ์ อันเป็นทางให้ได้ยศ เป็นทางสวรรค์
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติปฏิปทา
สมควรแก่คฤหัสถ์ คือบำรุงภิกษุผู้มีศีล
ผู้ดำเนินชอบ ด้วยจีวร ด้วยบิณฑบาต

195
หมวด/เล่ม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 196 (เล่ม 35)

เสนาสนะ และคิลานปัจจัย บุญย่อมเจริญ
มากแก่บัณฑิตเหล่านั้นทั้งกลางวัน ทั้ง
กลางคืน บัณฑิตเหล่านั้นครั้นทำกรรม
อันเจริญแล้ว ย่อมไปสู่สถานสวรรค์.
จบคิหิสามีจิสูตรที่ ๑๐
จบปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑
อรรถกถาคิหิสามิจิสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในคิหิสามีจิสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า คิหิสามีจิปฏิปทํ ได้แก่ ซึ่งข้อปฏิบัติอันสมควรแก่คฤหัสถ์.
บทว่า ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ ความว่า ตั้งสติไว้มั่น เพราะท่านประสงค์จะ
นำไปถวาย อธิบายว่า เข้าไปถวายจีวรแก่ภิกษุสงฆ์.
บทว่า อุปฏฺฐิตา แปลว่า ผู้บำรุง. บทว่า เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ
ความว่า ก็บัณฑิตเหล่าใด ย่อมบำรุงด้วยปัจจัย ๔ อย่างนี้ บุญย่อมเจริญ
แก่บัณฑิตเหล่านั้น ทุกเมื่อทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ด้วยอำนาจการบริจาค
และด้วยการระลึกถึง. บทว่า สคฺคญฺจ กมติฏฺฐานํ ความว่า บัณฑิต
ผู้เป็นเช่นนั้น ครั้นทำกรรมอันเจริญแล้ว ย่อมไปสู่สัคคสถานะ ในพระสูตร
ทั้ง ๔ เหล่านี้ ตรัสข้อปฏิบัติสำหรับผู้อยู่ครองเรือน ย่อมควรแก่คฤหัสถ์ผู้เป็น
โสดาบันและสกทาคามีด้วย.
จบอรรถกถาคิหิสามีจิสูตรที่ ๑๐
จบปุญญาภิสันทวรรควรรณนาที่ ๑

196