ยุคนี้ควรเน้นปริยัติ ดีกว่าปฏิบัติไม่รู้เรื่อง เพราะ อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ พระพุทธเจ้าเอาไปหมดแล้ว
- อุคฆติตัญญู : บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่า อุคฆตติตัญญู (เปรียบเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันนี้)
- วิปจิตัญญู : บุคคลใดตรัสรู้ธรรมในเมื่อท่านจำแนกอรรถแห่งธรรมที่กล่าวโดยย่อให้พิสดาร บุคคลนี้เรียกว่า วิปจิตัญญู (เปรียบเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันพรุ่งนี้)
- เนยยะ : บุคคลใดว่าโดยอุเทศโดยสอบถาม ใส่ใจโดยแยบคาย เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับ บุคคลนี้เรียกว่า เนยยะ (เปรียบเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันที่ ๓)
- ปทปรมะ: บุคคลใดสดับมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำได้มากก็ดี ให้ผู้อื่นสอนมากก็ดี ยังตรัสรู้ธรรมในชาตินั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ปทปรมะ (เหมือนดอกบัวที่เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า)
...บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็เหมือนดอกบัว ๔ ชนิด เหล่านั้นนั่นเอง ในบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้น บุคคลใด ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่า อุคฆตตตัญญู บุคคลใด ตรัสรู้ธรรมในเมื่อท่านจำแนกอรรถแห่งธรรมที่กล่าวโดยย่อให้พิสดาร บุคคลนี้เรียกว่าวิปจิตัญญู บุคคลใดว่าโดยอุเทศโดยสอบถาม ใส่ใจโดยแยบคาย เสพ คบเข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับ บุคคลนี้เรียกว่า เนยยะ บุคคลใดสดับมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำได้มากก็ดี ให้ผู้อื่นสอนมากก็ดียังตรัสรู้ธรรมในชาตินั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ปทปรมะ...
ใน 4 จำพวกนั้น 3 จำพวก อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู และ เนยยะ พระพุทธเจ้าเอาไปนิพพานหมดแล้ว ก็เหลือแต่ บุคคลจำพวกปทปรมะ สัจจกะนิครนถ์ คือหนึ่งในปทปรมะบุคคลที่ตรัสรู้หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่อภัพบุคคล มีจำนวนมากที่สุด
ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาโดยลำดับ เป็นไปโดยลำดับ จึงควรเน้นเรียนปริยัติก่อนไปปฏิบัติ ถ้าไม่เป็นไปตามลำดับ เรียกว่าลัดขั้นตอน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้วเริ่มต้นทีเดียวให้ทำสิ่งควร ให้ทำในบังเหียน ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควร ให้ทำสิ่ง ๆ ขึ้นไปฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเริ่มต้นย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดูก่อนพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า...
เพราะปริยัติ เป็นมูลแห่งศาสนา แต่ก่อนมีการโต้วาทะกัน ระหว่าง ฝ่ายพระธรรมกถึกทั้งหลาย ที่กล่าวว่าพระปริยัติเป็นมูลแห่งพระศาสนา และ ฝ่ายพระเถระผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ที่กล่าวว่า ปฏิบัติเป็นมูล แต่สุดท้าย พระธรรมกถึกก็เป็นฝ่ายชนะ
...จึงอ้างพระสูตรนี้ว่า พระสูตรยังดำรงอยู่ตราบใด พระวินัยยังรุ่งเรืองอยู่ตราบใด ภิกษุทั้งหลายย่อมเห็นแสงสว่างเหมือนพระอาทิตย์อุทัย อยู่ตราบนั่น เมื่อพระสูตรไม่มีและแม้พระวินัยก็หลงเลือนไป ในโลกก็จักมีแต่ความมืด เหมือนพระอาทิตย์อัสดงคต เมื่อภิกษุยังรักษาพระสูตรอยู่ ย่อมเป็นอันรักษาปฏิบัติไว้ด้วย นักปราชญ์ดำรงอยู่ในการปฏิบัติ ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ ดังนี้เมื่อพระธรรมกถึก นำพระสูตรนี้มาอ้าง พระเถระผู้ทรงผ้าบังสุกุลทั้งหลายก็นิ่ง คำของพระเถระผู้เป็นธรรมกถึกนั้นแล เชื่อถือได้...
ควรเรียนเป็น สัญญา (ความจำ) ติดตัวไว้ แล้วเรียนต่อในชาติต่อๆไป เพราะการจะรู้ธรรมได้นั้น ใช้ระยะเวลานาน แสนกัลป์เป็นอย่างต่ำ
การปฏิบัติธรรมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่าต้องไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ เท่านั้น (ยิ่งแล้วถ้าเป็นการลัดขั้นตอน) อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ เช่น ปฏิบัติหน้าที่ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติเวลาไหนก็ได้ ตามที่สะดวก และพระพุทธเจ้าก็สรรเสริญบุคคลที่เรียนธรรมแม้บทเดียวก็ทำได้เลย เช่น ถือพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง ไม่เอาสิ่งอื่นมาปน แล้วก็ทำได้จริงในข้อของตน
พระพุทธเจ้าไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า เป็นผู้ทรงธรรม
แบบนี้ ยังดีกว่าบางคนที่นุ่งห่มขาว ปฏิบัติธรรมขั้นสูง แต่ไม่รู้เรื่อง และในชีวิตประจำวันของเขาก็ยังขี้โกงอยู่เหมือนเดิม หรือ ถือศีล 5 ได้ ก็ยังดีกว่าไปถือ 227 ข้อ แต่ละเมิด