ให้น้ำเป็นทานแล้วอุทิศกับเทน้ำทิ้งไม่เหมือนกัน
...ชนเหล่าใด เป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ ข้าว อันสะอาด ประณีต อันสมควร ตามกาล อุทิศเพื่อญาติทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงมีสุขเถิด...
และในอรรถกถาติโรกุฑฑสูตร ก็บอกว่า พระเจ้าพิมพิสารถวายน้ำเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า หลักธรรมชาตินี้ คือ ให้สิ่งใดจะได้สิ่งนั้น ถ้าให้น้ำเป็นทาน ผลบุญก็จะเกี่ยวกับน้ำ และก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายน้ำแก่พระพุทธเจ้า ก็มีสระโบกขรณีบังเกิดแก่เปรตพวกนั้นได้อาบได้ดื่ม ถ้าไม่ได้ถวายน้ำเป็นทาน สระโบกขรณีที่บังเกิดแก่พวกเปรตนั่นจะมาจากไหน ? มาจากการที่ไปเทน้ำทิ้งหรือ ? เป็นไปไม่ได้ เพราะการเทน้ำทิ้ง คือ การเทน้ำเฉยๆ ไม่ได้ให้ทานแก่ผู้รับที่ตั้งเป้าเอาไว้แล้วอุทิศ
...พระราชาถวายน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดารดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น เปรตพวกนั้นก็อาบและดื่มในสระโบกขรณีนั้น ระงับความกระวนกระวายความลำบากและหิวกระหายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง ลำดับนั้น พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินเป็นต้นแล้วทรงอุทิศ...
เมื่อเรื่องมันคือการให้น้ำเป็นทาน จะไปพูดว่ากรวดน้ำทำไม เพราะสองอย่างนี้คนละเรื่องเลย ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้แล้ว คำว่า ปัตติทานมัย คือ การให้ส่วนบุญ ไม่ใช่กรวดน้ำ
เทียบกับปัจจุบันนี้ เวลาให้สิ่งของกัน มีกรวดน้ำไหม ? ไม่มีใช่ไหม ? ก็เอาให้เลยใช่ไหม ? ถ้าจะต้องทำให้มันถูกต้องตามกฎหมาย ก็แค่ไปทำใช่ไหม เช่น โอนกรรมสิทธิ์ แม้แต่การให้ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีกรวดน้ำเลย ไฉนอุทิศบุญจะมีกรวดน้ำ ? การรับประเคนมีองค์ 5 อย่าง ในนั้นมีบอกว่า ต้องกรวดน้ำให้ไหม ? เปรตได้รับบุญด้วยเหตุ 3 ประการ ในนี้มีบอกว่า ให้กรวดน้ำไหม ? มีหลักธรรมข้อไหนที่บอกว่า การเอาบุญให้สำเร็จด้วยการกรวดน้ำ ?