อุทิศบุญไม่เกี่ยวกับการกรวดน้ำ
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารให้ทานแล้วอุทิศให้แก่ญาติที่เป็นเปรตนั้น ลำดับเหตุการดังนี้
- เริ่มแรก พระราชาถวายน้ำให้พระพุทธเจ้าก่อน (เพื่อให้พระพุทธเจ้าล้างมือ บ้วนปากก่อนฉันอาหาร) แล้วอุทิศบุญที่ได้จากการถวายน้ำนี้ ให้แก่ญาติ จะเห็นได้ว่า ไม่เหมือนกับการกรวดน้ำในปัจจุบัน ที่กรวดลงเฉยๆ แต่นี้ คือให้น้ำเป็นทาน พระเจ้าพิมพิสารให้แล้วอุทิศทันที ไม่ใช่มากรวดน้ำทีหลัง ประเด็นในเรื่องนี้คือ ให้แล้วอุทิศทันที
- จากนั้น ถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินเป็นต้นแล้วทรงอุทิศ
- จากนั้น ถวายผ้าและเสนาสนะเป็นต้น แล้วทรงอุทิศ
ในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า การให้ทานของพระเจ้าพิมพิสาร แก่พระพุทธเจ้านั้น ไม่มีการกรวดน้ำเลย แต่คือการให้น้ำเป็นทาน และ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สวดอะไรด้วย ไม่เหมือนอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน แต่ก็มีคนเอาเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารให้ทานนี้ ไปอ้างโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
พระราชาถวายน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดารดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น เปรตพวกนั้นก็อาบและดื่มในสระโบกขรณีนั้น ระงับความกระวนกระวายความลำบากและหิวกระหายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง ลำดับนั้น พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินเป็นต้นแล้วทรงอุทิศ ในทันใดนั้นเอง ข้าวยาคูของเคี้ยวและของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น เปรตพวกนั้น ก็พากินบริโภคของทิพย์เหล่านั้น มีอินทรีย์เอิบอิ่มลำดับนั้น พระราชาถวายผ้าและเสนาสนะเป็นต้น ทรงอุทิศให้เครื่องอลังการต่าง ๆ มีผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาดและที่นอนเป็นต้น ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น สมบัติแม้นั้นของเปรตพวกนั้น ปรากฏทุกอย่างโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงอธิษฐาน (ให้พระราชาทรงเห็น) โดยประการนั้น
บุญส่งถึงญาติที่เป็นเปรต ด้วยองค์แห่ง 3 ประการ คือ (1) ด้วยการอนุโมทนาของเปรต (2) ผู้ให้อุทิศให้ (คือเอาให้) และ (3) ให้ทานแก่ทักขิไทยบุคคล (ผู้ควรแก่ของทำบุญ) แล้วอุทิศ ในนี้ก็ไม่เห็นมีบอกว่า บุญไปเพราะกรวดน้ำ
จริงอยู่ ทักษิณาย่อมบังเกิดผลแก่พวกเปรตในขณะนั้นด้วยองค์ ๓ ประการคือ ด้วยตนอนุโมทนา ๑ ด้วยทายกอุทิศให้ ๑ ด้วยการถึงพร้อมด้วยพระทักขิไทยบุคคล ๑
การให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ก็คือ เอาบุญให้ ส่วนการเทน้ำลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันบางอย่าง เช่น ให้สิ่งของ เป็นเรื่องประเพณี ถ้าในปัจจุบัน จะไปเทน้ำลงทำไม ก็ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาสนาพุทธสอนให้เราใช้ปัญญา ให้รู้จักใช้หลักเหตุผล ยกตัวอย่าง เช่น นาย (ก) เอาเงินให้นาย (ข) แล้ว นาย (ข) ก็รับเอา กรณีนี้ การให้-การรับ สําเร็จแล้ว เมื่อสําเร็จแล้ว เกี่ยวอะไรกับกรวดน้ำ ? ถ้าไม่มีเงินที่จะให้ หรือ ไม่ได้ให้ กรวดน้ำลงเฉยๆ แล้วกล่าวว่าให้ เงินมันก็ไม่ไปหรอก นอกจากเรื่องพระเจ้าพิมพิสารอุทิศบุญแล้ว เทียบเรื่องอื่นก็ไม่มีบอกว่า การอุทิศบุญต้องไปกรวดน้ำก่อน เช่น เรื่องสังขพราหมณ์ให้บุญแก่อุปัฏฐาก แล้วอุปัฏฐากก็อนุโมทนารับเอา ก็ไม่เห็นมีว่าต้องไปกรวดน้ำก่อน
...แล้วอุ้มพราหมณ์ขึ้นบนเรือที่ประดับแล้ว แต่มิได้เหลียวแลบุรุษอุปัฏฐากของพระโพธิสัตว์เลย พราหมณ์ได้ให้ส่วนบุญที่ตนได้กระทำไว้แก่อุปัฏฐาก อุปัฏฐากก็รับอนุโมทนา ทันใดนั้น เทวดาก็อุ้มอุปัฏฐากนั้นขึ้นเรือด้วย ลำดับนั้น เทวดาก็นำเรือไปสู่โมลินีนครขนทรัพย์ขึ้นเรือนพราหมณ์ แล้วจึงไปยังที่อยู่ของตน...
นอกจากนี้ บางคนก็ยกเอาข้อพระแม่ธรณีบีบมวยผม (ที่ไม่มีในพระไตรปิฎก) ไปแทรกเข้ากับการกรวดน้ำเวลาอุทิศบุญ ว่าการกรวดน้ำมีที่มาจากที่ พระโพธิสัตว์ ให้ทานแล้วกรวดน้ำลงสู่แผ่นปฐพี ซึ่งมีมากกว่าน้ำในมวยผมของพระแม่ธรณี