No Favorites

วันดอกโกมุทบาน ไม่ใช่ประเพณีพุทธ

ในสูตรนี้ พระพุทธเจ้าพูดถึงฤดูกาลแห่งดอกโกมุทกาลบานเฉยๆ ไม่ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีพุทธแต่อย่างใด ท่านไม่ได้ตรัส เมื่อท่านไม่ได้ตรัส ถ้าใครไปเสริมแต่งใส่เอง ก็เป็นพจน์ของคนนั้น ไม่ใช่พุทธพจน์

...ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำให้แจ้งยิ่งกว่าประมาณเถิดเราจักอยู่ในกรุงสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท๑ พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักรออยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลังไหลมายังกรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า...

ในพระไตรปิฎก มีอธิบายไว้ว่า วันดอกโกมุทบาน"เป็นเทศกาลมหัณณพ" มหาชนพากันตบแต่งพระนคร หมายความว่า เป็นประเพณีชาวโลก ไม่ใช่ประเพณีพุทธ

...ครั้นถึงคืนกลางเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบานเทศกาลมหัณณพ มหาชนพากันตบแต่งพระนครและภายในพระราชฐานไว้อย่างตระการปานประหนึ่งว่าเทพนคร จึงพระเจ้าอังคติราชเข้าโสรจสรงทรงลูบไล้พระองค์ ประหนึ่งเครื่องราชอลังการเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จประทับนั่งเหนือราชอาสน์...

ดอกโกมุท มันจะบานในวันนั้น ก็เรื่องของมัน เป็นฤดูกาล ส่วนชาวโลกจะเฉลิมฉลองอะไรในวันนั้น ก็เป็นเรื่องของชาวโลก ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับที่ พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ประชุมกันในวันนั้น

คำว่า "อริยประเพณี" หมายถึง ข้อปฏิบัติที่พระอริยะประพฤติตาม เรียกว่า อริยะวงศ์ แต่ไม่ใช่ ประเพณีชาวโลก ไม่ใช่เทศกาลของชาวโลก ไม่ใช่ว่าอ่านเห็นคำว่า ประเพณี ก็จะไปตีความว่าเป็นประเพณีไปหมด ไม่ใช่

แล้วพระอริยะมีใครบ้าง คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสาวกของพระตถาคต

... บทว่า อริยวํสา คือ วงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย อริยวงศ์ที่แปดแม้นี้ เป็นสายของพระอริยะ ชื่อว่าเป็นประเพณีเชื้อสายของพระอริยะ เหมือนขัตติยวงศ์ พราหมณวงศ์ เวสสวงศ์ สุททวงศ์ สมณวงศ์กุลวงศ์ ราชวงศ์ฉะนั้น ก็วงศ์นี้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นยอดของวงศ์เหล่านี้เหมือนกลิ่นกระลำพักเป็นต้น เป็นยอดของไม้มีกลิ่นเกิดที่รากเป็นต้น ถามว่า ก็คนเหล่าไหน คืออริยะ วงศ์ของอริยะ ตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และสาวกของพระตถาคตทั้งหลาย ท่านเรียกว่า พระอริยะ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นจึงรวมเรียกว่าอริยวงศ์...

เรี่อง อริยประเพณี มีอยู่เยอะใน พระไตรปิฎก เช่น พระอุบาลีเรียนเอาวงศ์ ระเบียบประเพณีพระวินัย

...ความพิสดารว่า ท่านพระอุบาลีเรียนเอาวงศ์ ระเบียบประเพณีพระวินัย ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วให้ตั้งอยู่ในหทัยของภิกษุเป็นอันมาก จริงอยู่ บรรดาบุคคลผู้เรียนเอาวินัยวงศ์ ในสำนักของท่านนั้นแล้วถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในพระวินัย ผู้ที่เป็นปุถุชน พระโสดาบันพระสกทาคามี และพระอนาคามี กำหนดนับไม่ถ้วน ที่เป็นพระขีณาสพได้มีจำนวน ๑,๐๐๐ รูป...

เช่น พระมหากัสสปะ ประพฤติตามข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ คือเป็นผู้สันโดด ไม่ข้องในปัจจัย เพราะท่านเคยเห็นพระอรหันต์สาวกรูปหนึ่ง ชื่อ พระมหานิสภเถระ แล้วอยากเป็น จึงตั้งความปรารถนา ต่อพระปทุมุตตระพุทธเจ้า เมื่อได้เป็นแล้ว ก็รักษาประเพณีนี้เอาไว้

"ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดีบริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา บุตรของเราไม่ข้องในอะไร ๆ เลยเหมือนพระยาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น"

ปรารถนาน้อยก็เรียกว่า อริยประเพณี

...อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนี่ เป็นแบบแผน เป็นประเพณีของเรา ...

ทำผิดแล้วแก้ไข สำรวมต่อไป เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ

...แต่เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ...

ฉะนั้น ประเพณีพุทธต้องนับเอาเฉพาะที่ พระพุทธเจ้าพาทำเท่านั้น และถ้าอยากรักษาประเพณีพุทธ ก็ต้องประพฤติตามที่พระพุทธเจ้าสอน จึงจะเรียกว่า รักษาประเพณีพุทธ รักษาวงศ์ มีแค่นี้ ส่วนฤดูกาลดอกไม้นั้นบาน หรือ ชาวโลกจะเฉลิมฉลองอะไรในวันนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพุทธ ต้องจำแนก ไม่ใช่ว่า ในวันเดียวกัน คนกระทำต่างกัน ก็จะหมายรวมว่า ทำเหมือนกัน ไม่ได้

แนวคิดเอาเทศกาลทางโลกมาแทรกใส่ทางธรรม ไม่ถูกต้อง ประเพณีพุทธ ต้องเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพาทำเท่านั้น ไม่ใช่ชาวโลกกำหนดทำ แม้ในประเพณี ที่ชาวโลกกำหนดทำ จะมีคนทำบุญตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอนปะปนอยู่ด้วยก็ตาม ก็นับเอาเฉพาะแต่การกระทำที่เป็นบุญนั้นว่าเป็นประเพณีพุทธ ไม่นับประเพณีที่ชาวโลกกำหนดนั้น ว่าเป็นประเพณีพุทธ