No Favorites

พระพุทธเจ้าตำหนิพระอรหันต์ก็มี

ตำหนิ มีความหมายว่า "ติว่าบกพร่อง" ถ้าพระอรหันต์ทำไม่ถูก (มีข้อบกพร่อง) แล้วพระองค์ว่ากล่าว นั่นละคือตำหนิ (เพราะมีข้อบกพร่อง)

ต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่มีข้อบกพร่อง เพราะมีความบริสุทธิ์อยู่ 4 อย่าง ที่ไม่ต้องรักษา คือ (1) กายสมาจารบริสุทธิ์ (2) วจีสมาจารบริสุทธิ์ต (3) มโนสมาจารบริสุทธิ์ (4) อาชีวะบริสุทธิ์ ส่วนสาวกแม้เป็นพระอรหันต์ก็ตาม ย่อมมีข้อบกพร่อง ย่อมมีข้อตำหนิเป็นธรรมดา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ที่ตถาคตไม่ต้องรักษา ๔ อย่างเหล่านี้ ๔ อย่างอะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีกายทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ตถาคตไม่มีวจีทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตถาคตมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีมโนทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีอาชีวะบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีมิจฉาชีวะที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดังนี้

ดังในเรื่องนี้ ตำหนิพระสารีบุตรที่จะไม่ว่ากล่าวสั่งสอนคนอื่น

ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงยกข้อตำหนิ เพราะมโนทุจริตนั้น ของพระเถระ จึงตรัสว่า "เธอจงรอก่อนสารีบุตร ความคิดอย่างนี้ไม่ควรที่เธอจะให้เกิดขึ้นอีกเลยสารีบุตร" แม้เพียงความคิดว่า "เราจะไม่ว่ากล่าวสั่งสอนคนอื่น อย่างนี้" ก็ชื่อว่าเป็นมโนทุจริต ของพระเถระ

ตำหนิพระมหากัสสปเถระ ผู้กำลังเล็งทิพยจักษุ ตรวจดูสัตว์ทั้งหลายจุติ และเกิดอยู่ว่านั่นไม่ใช่วิสัยของสาวก

...การรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์เหล่านั้น ไม่ใช่วิสัยของเธอ วิสัยของเธอมีประมาณน้อย ส่วนการรู้การเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้จุติและเกิดอยู่โดยประการทั้งปวงเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น...

ตำหนิ พระมหากัปปินเถระ ที่ไม่เคยให้แม้โอวาทแก่ลูกศิษย์ท่านเลย

...ดูก่อนพราหมณ์ เธออย่าทำอย่างนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย. ท่านรับพระพุทธดำรัสด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละพระเจ้าข้า แล้วแสดงธรรมสอนสมณะพันรูป ในการประชุมคราวเดียวเท่านั้น ให้เธอบรรลุพระอรหัตหมดทุกรูป...

ตำหนิ พระมหากัปปินเถระ ที่คิดว่าควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป เพราะได้หลุดพ้นแล้ว

...ดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูก่อนพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้ ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า...

พระขีณาสพก็ต้องอาบัติ

ก็ในบทว่า ตานิ อาปชฺชติปิ วุฏฺฐาติปิ นี้ มีอธิบายว่า พระขีณาสพไม่ต้องอาบัติที่เป็นโลกวัชชะเลย จะต้องก็แต่อาบัติที่เป็นปัณณัตติวัชชะเท่านั้น และเมื่อต้องก็ต้องทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง คือ เมื่อต้องทางกาย ก็ต้องกุฏิการสิกขาบทและสหไสยลิกขาบทเป็นต้น เมื่อต้องทางวาจา ก็ต้องสัญจริตตสิกขาบท และปทโสธัมมสิกขาบทเป็นต้น เมื่อต้องทางใจก็ต้อง (เพราะ) รับรูปิยะ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. บทว่า น หิเมตฺถ ภิกฺขเว อภพฺพตา วุตฺตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหสาย ก็ในที่นี้เราตถาคตมิได้กล่าวว่า พระอริยบุคคลไม่ควรทั้งในการต้องและการออกจากอาบัติเห็นปานนี้

พระขีณาสพที่ฟังมาน้อย เพราะไม่ฉลาดในพุทธบัญญัติ ก็ย่อมต้องอาบัติ

...พระขีณาสพที่ฟังมาน้อย ย่อมไม่ต้องอาบัติที่เป็นโลกวัชชะ ก็จริงอยู่, แต่เพราะไม่ฉลาดในพุทธบัญญัติ ก็ย่อมจะต้องอาบัติในกายทวาร ประเภททำวิหาร ทำกุฏิ ( คลาดเคลื่อนไปจากพุทธบัญญัติ ) อยู่ร่วมเรือน นอนร่วมกัน ( กับอนุปสัมบัน เป็นต้น ) ย่อมต้องอาบัติในวจีทวารประเภทชักสื่อ กล่าวธรรม โดยบท พูดเกินกว่า ๕-๖ คำ บอกอาบัติที่เป็นจริง ( เป็นต้น ) ย่อมต้องอาบัติเพราะรับเงินรับทอง ในทางมโนทวารด้วยอำนาจยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน...

การตำหนิของพระพุทธเจ้าเป็นไปเพื่อความเจริญในอริยวินัย เพื่อรักษาธรรมเนียมธรรม เพื่อรักษาวงศ์

...พราะผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย...

แต่ถ้าพูดในแง่ของการหลุดพ้น พระพุทธเจ้าจะไม่ตำหนิพระขีณาสพ ดังเช่นพระสูตรนี้ ไม่ตำหนิฉันนภิกษุที่นำศาสตรามาฆ่าตัวตายแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นสมสีสีแล้วปรินิพพาน

...ดูก่อนสารีบุตร บุคคลใดแล ทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่นบุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุหาศาสตรามาฆ่าตัวอย่างไม่ควรถูกตำหนิ...

ไม่ตำหนิ พระสารีบุตร และ พระขีณาสพ ๕๐๐ รูป ที่หลุดพ้นแล้ว

...พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เราติเตียนกรรมไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเธอไม่ได้เลย สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต สารีบุตรเธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาแหลมคม สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงติเตียนกรรมไร ๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ทรงติเตียนกรรมไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ภิกษุ ๑๐ รูป เป็นผู้ได้วิชชา ๓ อีก ๖๐ รูปเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อุภโตภาควิมุตติ ส่วนที่ยังเหลือเป็นผู้ได้ปัญญาวิมุตติ...

แต่ก็มีตำหนิในแง่เพื่อความเจริญในอริยวินัย เพื่อรักษาธรรมเนียมธรรม เพื่อรักษาวงศ์ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างพระศาสดากับพระสาวก แต่ถ้าเป็นผู้อื่นไปตำหนิพระสาวก ดังเช่น พระโกกาลิก ตายแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก